กรมการแพทย์ เผย แนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 ในรพ.ดีขึ้น ทำให้หลายสถานพยาบาล ทยอยปิดวอร์ดผู้ป่วยโควิด และเตรียมปรับเกณฑ์การรักษาผู้ป่วยโควิด หากอนาคตปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น ขณะเดียวกันห่วงเด็กต่ำกว่า 2 ปีติดเชื้อโควิดมีอาการรุนแรง
นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เผยถึง สถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ ว่าเริ่มทรงตัว และมีการรักษาที่บ้านมากขึ้น ทำให้หลายสถานพยาบาล ทยอยยุบวอร์ดโควิด-19 ลง และกลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆและทำการรักษาผ่าตัดมากยิ่งขึ้น เช่น โรงพยาบาลเลิดสิน ได้มีการรายงานว่า ผู้ป่วยโควิดน้อยลง โดยเฉพาะในโรงพยาบาลสนาม ที่เตรียมเตียงไว้ 200 กว่าเตียง ตอนนี้เหลือรักษาผู้ป่วย เพียง 30-40 คน ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง
โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลเลิดสินได้งดรับผู้ป่วยโควิด ที่เข้ารพ.สนามลง โดยมาใช้รูปแบบการส่งต่อการรักษาผู้ป่วยตามสิทธิ์ ทั้งนี้คาดว่า 1-2 สัปดาห์นี้ จะมีการปรับการรักษาเข้าสู่ระบบปกติ แต่ยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่มีการระบาดโควิดที่รุนแรงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์
เช่นเดียวกับสถานพยาบาลอื่นที่ได้มีการปรับลดการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลลง ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลได้มีห้องไอซียูอยู่แล้วในการรองรับผู้ป่วยโควิดวิกฤต แต่ยังมีการติดตามสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตอนนี้เริ่มพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยในบางประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หมอธีระ ชี้ "โอไมครอน" ยังแพร่เชื้อไวขึ้น แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โลกลดลง
โควิดวันนี้ 2 พ.ค. 65 ลดลงต่อเนื่อง! ติดเชื้อใหม่ 9,331 ราย ผู้เสียชีวิต 84 ราย
ส่วน กรณีที่หลายฝ่ายกังวล หากเปิดภาคเรียนและจะพบเด็กติดเชื้อมากขึ้น นายแพทย์สมศักดิ์ ระบุว่า สิ่งที่จะป้องกันการติดเชื้อได้คือการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเกิน 5 ปี สามารถฉีดได้ และขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามนัดเนื่องจากมีข้อมูลว่าเด็กฉีดเข็ม 2 น้อยมาก
ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีเป็นกลุ่มที่น่าห่วง เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค แม้เด็กสุขภาพดี แต่ก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อและอาการรุนแรง สิ่งที่จะช่วยได้ คือคนรอบตัวเด็ก ผู้ปกครอง ที่ควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดการแพร่เชื้อ
ส่วนที่กังวลว่าจะมีการติดเชื้อจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมภายในโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดทำแผนมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ทั้งนี้การรักษาในเด็ก ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ได้มีการประชุมหารือกับเครือข่ายทุกโรงพยาบาลในการวางแนวทางการรักษาเป็นระยะอยู่แล้ว
แต่ในตอนนี้ โควิด-19 ยังถูกระบุให้เป็นโรคติดต่ออันตรายอยู่ และอยู่ระหว่างการหารือกับฝ่ายรักษา ในการจัดทำเกณฑ์ ควบคุมป้องกันและรักษา หลังปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น
ขณะที่นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ รองคณบดีฝ่ายสนับสนุนโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุถึง สถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 ที่รักษาในโรงพยาบาล ว่าขณะนี้สถานการณ์เริ่มทรงตัว และลดลง ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เลื่อนผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดลงกว่าครึ่ง แต่ตอนนี้ได้กลับมาทำการรักษาต่อและนัดผ่าตัดปกติ คาดระยะเวลาอีกไม่นานการรักษาผู้ป่วยอื่นๆก็จะกลับสู่ระบบปกติ เช่นเดียวกับสถานการณ์การรักษา ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน นอกจากจะต้องเฝ้าระวังโควิด-19 แล้วขอให้เฝ้าระวังในโรคไข้เลือดออกด้วย ซึ่งภาวะการขณะนี้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยอาการจะคล้ายกับโควิด- 19 หากทำการรักษาไม่ทันก็อาจจะเสียชีวิตได้เนื่องจากไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของไทย