สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานรวมถึงภาคปะชาชนระดมความคิดเห็น (Brainstorm) โครงการรณรงค์สร้างความรู้เพื่อยับยั้งและรู้เท่าทันข่าวปลอม (Stop Fake , Spread Facts) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว บางกอก ฟอร์จูน
ข่าวปลอมเป็นปัญหาร่วมกันของหลาย ๆ คน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะคนไทย แต่เป็นปัญหาร่วมกับคนทั้งโลก เพราะมีการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารได้เร็ว วิธีการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้มากที่สุดคือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของ การรู้เท่าทันสื่อกับประชาชนทุกระดับตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ รวมถึงสื่อมวลชนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเรื่องของการกรองข้อมูลที่นำเสนอแก่ผู้บริโภค
ทางออกของปัญหาข่าวปลอมนั้นต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกคน ทั้งประชาชนในฐานะผู้รับสาร และผู้นำเสนอข่าวหรือนักสื่อสารมวลชนในฐานะผู้นำเสนอเนื้อหาข่าวสาร ซึ่งในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยยังไม่ได้มีขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีเพียงพอ ดังนั้นแนวทางการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาข่าวลวง อันได้แก่
- กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
- ภาครัฐต้องมีการจัดระบบข้อมูลที่ดีและเข้าถึงง่าย และบังคับใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพ
- ภาคอุตสาหกรรมมีการกำกับดูแลกันเอง
- ภาคประชาชนมีวิจารณญาณกรองข่าวสารที่ได้รับมาก่อนเผยแพร่
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ผู้รับทุนการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.) ให้ดำเนินการจัดทำโครงการรณรงค์สร้างความรู้เพื่อยับยั้งและรู้เท่าทันข่าวปลอม (Stop Fake News) ภายใต้ชื่อโครงการ “Stop Fake, Spread Facts” ซึ่งมีการจัดกิจกรรม Brainstorm ระดมความคิดโดยร่วมมือกันในหลายๆ องค์กรจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ความรู้กับประชาชนทุกระดับตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ในเรื่องข่าวปลอม การรู้เท่าทันสื่อ ที่มีในหลายช่องทางโดยเฉพาะโลกออนไลน์ รวมถึงสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเรื่องของการกรองข้อมูลที่นำเสนอแก่ผู้บริโภค
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ แนะวิธีรับมือ หลังสื่อใหญ่โดนแฮกช่อง Youtube
รู้ทันข่าวลวง เนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก กับกิจกรรม FactCollabTH
กิจกรรมระดมความคิดในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ถึงปัญหาข่าวปลอมในประเทศไทยส่งผลกับวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวปลอมในประเทศไทย และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก บางครั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความอ่อนไหวและไม่ใช่เรื่องจริง หรืออาจเป็นเรื่องจริงในวันพรุ่งนี้ ส่วนช่องทางการเผยแพร่ข่าวปลอมในไทยมักใช้เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ยูทูบ และไลน์ เป็นต้น มีรูปแบบตั้งแต่การสร้างเว็บไซต์ปลอมและการเลียนแบบเว็บไซต์สำนักข่าวชื่อดัง รวมถึงการสร้างเพจเลียนแบบเพจของ
สำนักข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเผยแพร่ของข่าวปลอมได้สร้างผลกระทบต่อสังคมและองค์กรวิชาชีพ โดยเฉพาะกรณีสื่อมวลชนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวปลอมต่อโดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลก่อนเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหาย ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่ออย่างชัดเจน
ปัจจุบันการนำเสนอข่าวปลอม (Fake News) เริ่มเกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการใช้ช่องทาง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เป็นเครื่องมือในการสร้างและเผยแพร่จนเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งสาเหตุของข่าวปลอมมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่
1) ถูกสร้างขึ้นมาจากผู้ที่มีอคติหรือผู้ที่ต้องการให้สังคมแตกแยก
2) เป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลบางกลุ่ม
3) มาจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ หากมียอดแชร์ ยอดการถูกใจมาก รายได้ก็มากขึ้น ประกอบกับมาตรการการควบคุมของรัฐยังไม่เข้มข้นมากเท่าที่ควร ทำให้ผู้สร้างข่าวปลอมสามารถสร้างข่าวได้ตามที่ต้องการ
ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นมีทั้งเป็นประเด็นทางสังคมที่มีผลกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ หรือประเด็นของบุคคลทางการเมือง บุคคลสาธารณะ รวมทั้งประเด็นที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยทั้งหมดมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง และในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนที่ดำเนินงานและจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอม เช่น ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ของสำนักข่าวไทย อสมท. ที่มีทั้งการจัดตั้งเพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ รวมถึงมีรายการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เพื่อนำเสนอและตรวจสอบข่าวปลอม นอกจากนี้
ยังมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างเว็บไซต์เพื่อค้นหาและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม
ขณะที่นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษายังทำวิจัยและเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านบทความวิชาการจำนวนมาก และยังมีโครงการต่อต้านปัญหาข่าวปลอมจากองค์กรต่างๆ อีกมาก ซึ่งเป็นภาพของการทำงานแบบแยกส่วน การตระหนักรู้หรือความร่วมมือจึงยังไม่เกิดอย่างเป็นรูปธรรม
การจัดระดมความคิดการรณรงค์หยุดข่าวปลอมในครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ นักกฎหมาย นักวิชาการ ประชาชนในกรุงเทพมหานคร และตัวแทนจังหวัดใน 4 ภาค เพื่อร่วมกันหาแนวทางยับยั้งและรู้ทันข่าวปลอมให้กับประชาชน และทุกภาคส่วน