จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ แสดงความคิดเห็นกรณี ปารีณา ไกรคุปต์ ถูกตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ห้ามลงเลือกตั้งตลอดชีวิต ว่า “มาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ระบบใหม่ที่ผิดเพี้ยนและอันตราย”
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก กรณีที่ ปารีณา ไกรคุปต์ ถูกตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ดังต่อไปนี้
การลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีคุณปารีณา ไกรคุปต์ ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันและถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกนี้ กำลังแสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายแบบนี้อาจจะเป็นปัญหาต่อสังคมไทยมากกว่าเป็นประโยชน์ ยิ่งหากนำมาจัดการกับการเมืองแบบเลือกปฏิบัติก็จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นอีกมาก
ที่ตนจะแสดงความเห็นต่อไปนี้ ไม่ใช่ความเห็นต่อการพิพากษาตัดสินคดี แต่ต้องการเสนอความเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งต่อระบบกฎหมายว่าด้วยการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่าร้ายแรง ซึ่งตนเห็นว่าผลจากคำพิพากษาล่าสุดทำให้เห็นปัญหาของระบบกฎหมายใหม่นี้อยู่ 4 ข้อ คือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พิษรัฐธรรมนูญปี 60” ปิยบุตร ไม่เห็นด้วย "ปารีณา ไกรคุปต์" ถูกตัดสินพ้น ส.ส.
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยกสิระ ปารีณา เป็นอุทาหรณ์ ชะตากรรมองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล
ด่วน! ศาลฎีาสั่ง "ปารีณา ไกรคุปต์" พ้น ส.ส. เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ปมรุกป่า : Breaking News
1.ผิดฝาผิดตัว
มาตรฐานจริยธรรมควรเป็นเรื่องของวิชาชีพหรือกลุ่มวิชาชีพ ไม่ใช่การทำผิดกฎหมายทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นกับคนทุกอาชีพและมีบทลงโทษสำหรับทุกคนเท่ากันอยู่แล้ว
การดูแลเรื่องจริยธรรมควรเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพนั้นๆ ไม่ใช่ให้ศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ ศาลควรพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย
2.ซ้ำซ้อน
การลงโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมโดยพิจารณาจากการกระทำผิดกฎหมายที่มีบทลงโทษอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เป็นการซ้ำซ้อน ลักลั่น ผู้ถูกลงโทษกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ยังไม่มีโอกาสพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งต่อสู้ได้ถึง 3 ศาล และอาจตัดสินว่าไม่ผิดกฎหมายก็ได้ แต่กลับถูกลงโทษตามมาตรฐานจริยธรรมไปแล้ว แต่ถ้าถูกตัดสินว่าผิดก็จะกลายเป็นว่าโดยรวมแล้วเป็นการลงโทษมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ตามปกติอีกมาก
3.บทลงโทษขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
การลงโทษบุคคลด้วยการเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ควรมีในระบบกฎหมายของประเทศไทยไม่ว่ากรณีใดๆ เนื่องจากเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หลักการประชาธิปไตยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
หลักง่ายๆ ก็คือพลเมืองไทยที่ต้องเสียภาษีกันอยู่ทุกคน ต้องรับผลดีผลเสียจากการทำงานของรัฐ จึงมีสิทธิโดยพื้นฐานที่จะร่วมกำหนด ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐ นั่นก็คือต้องมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง การตัดสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งของพลเมืองจึงไม่ควรมีในระบบกฎหมายของประเทศไทย
4.อัตราโทษหนักไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำผิด
การลงโทษนักการเมืองที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมด้วยการเพิกถอนสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งและตัดสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตในทุกกรณีตามที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้นี้ เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ไม่คำนึงถึงความหนักเบาของการกระทำผิด
เท่ากับว่า การใช้กรณีกระทำผิดกฎหมายเป็นฐานของการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมตามระบบนี้ การกระทำผิดกฎหมายอาจมีโทษหนักเบาต่างกันมาก แต่จะต้องถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตเหมือนกันหมด จึงเป็นการลงโทษที่โหดร้ายทารุณและไม่เป็นเหตุเป็นผล
ทั้ง 4 ข้อนี้คือปัญหาของระบบกฎหมายในการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมตามระบบใหม่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ถ้ามองย้อนหลังไปในอดีต ก็จะพบว่านี่คือความต่อเนื่องของสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ การให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองที่พิสูจน์แล้วว่า นอกจากไม่สามารถจัดการการเมืองให้ดีได้แล้ว ยังสร้างปัญหามากขึ้นทั้งต่อระบบการเมืองและระบบยุติธรรมเองด้วย