svasdssvasds

กสม. จี้ ศบค. ยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ชี้จำกัดเสรีภาพสื่อ-ละเมิดสิทธิ์

กสม. จี้ ศบค. ยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ชี้จำกัดเสรีภาพสื่อ-ละเมิดสิทธิ์

มติ กสม. จี้ ศบค.ยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ภายใน 60 วัน ชี้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับ 27 ข้อ 11 ปิดปากสื่อมวลชนเกินแก่เหตุ ยกคำสั่งศาลแพ่งเคยตัดสินไว้แล้ว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษชยแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวถึงผลการพิจารณาข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 จํากัดเสรีภาพการเสนอข่าวสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ที่ออกโดย ศบค. ว่า เกินสมควรแก่เหตุ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564  ขอให้ตรวจสอบกรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ข้อ 11 และ ข้อกําหนดฯ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

ซึ่งระบุมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทําให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19) และการเสนอข่าวที่อาจทําให้ ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 

ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการกระทํา ดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน จึงขอให้ตรวจสอบนั้น  กสม. เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกําหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีลักษณะเป็นการจํากัดเสรีภาพในการแสดงออก

รวมทั้งเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชน มีข้อความของบทบัญญัติที่กว้างขวาง คลุมเครือ ไม่ชัดเจน และสามารถตีความไปได้หลายแบบตามความมุ่งหมายของผู้ใช้กฎหมาย โดยอาจมีการตีความได้ว่า การเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นความจริง แต่ทําให้ประชาชนหวาดกลัวก็ถือว่ามีความผิดได้ โดยที่มิได้พิจารณาว่าข่าวนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หรือเป็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่  นอกจากนี้ผู้บังคับใช้กฎหมายยังอาจตีความได้ว่า การเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นความจริงแต่อาจทําให้ ประชาชนเกิดความหวาดกลัว  

จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ดังนี้ คือ ให้พิจารณายกเลิกข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เฉพาะส่วนในข้อ 11  และในระหว่างที่ข้อกําหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 1 ยังมีผลใช้บังคับ ให้ ศบค. ใช้วิธีการชี้แจงหรือ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยให้พิจารณาใช้มาตรการที่จําเป็นเหมาะสมภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้น 

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้จะมีการส่งรายงานของกสม.ไปยัง ศปก.ศบค. ซึ่งมีเวลาในการยกเลิกประกาศฉบับที่ 27 ข้อ 11 ดังกล่าวภายใน 60 วัน และกสม.จะยังติดตามผลักดันเรื่องนี้ต่อ เพราะในรายงานระบุแล้วว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อีกทั้งสำนักงาน กสม. เผยผลสำรวจประเด็นถกเถียงด้านสิทธิมนุษยชน พบคนรุ่นใหม่หนุนทำแท้งเสรี Sex worker ถูกกฎหมาย และสมรสเท่าเทียม ส่วนประเด็นโทษประหารเสียงก้ำกึ่ง

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ได้จัดนิทรรศการ "มองให้ชัด ยืนหยัดเพื่อสิทธิทุกคน" ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานการประกวดภาพถ่ายและคลิปสั้น Tik Tok ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน เมื่อวันที่ 1 -13 มีนาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่ง
กรุงเทพมหานคร

การจัดกิจกรรมดังกล่าว มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม 5 หัวข้อ โดยมีผู้ลงความคิดเห็น (โหวต) ทั้งสิ้น 45,284 โหวต รายละเอียดดังนี้

(1) ผู้หญิงมีเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้ง มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,238 โหวต คิดเป็นร้อยละ 97.53 และไม่เห็นด้วย 183 โหวต คิดเป็นร้อยละ 2.47
(2) เด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ไม่มีวุฒิภาวะพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ มีผู้โหวตเห็นด้วย 2,313 โหวต คิดเป็นร้อยละ 24.20 และไม่เห็นด้วย 7,246 โหวต คิดเป็นร้อยละ 75.80
(3) Sex Worker ควรเป็นอาชีพถูกกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 7,266 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48 และไม่เห็นด้วย 112 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52
(4) ชายและหญิงเท่านั้นที่สมรสได้ตามกฎหมาย มีผู้โหวตเห็นด้วย 143 โหวต คิดเป็นร้อยละ 1.52 และไม่เห็นด้วย 9.264 โหวต คิดเป็นร้อยละ 98.48
(5) การประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรม มีผู้โหวตเห็นด้วย 6,307 โหวต คิดเป็นร้อยละ 54.75 และ ไม่เห็นด้วย 5.212 โหวต คิดเป็นร้อยละ 45.25

จากกิจกรรมแสดงความคิดเห็นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมทั้ง 5 ข้อ สรุปได้ว่า ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตซึ่งโดยมากเป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเสรีภาพที่จะเลือกทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้การทำแท้งที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 และ 20 สัปดาห์ สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และในอีกประเด็นที่น่าสนใจ
พบว่า ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าอาชีพพนักงานบริการทางเพศ หรือ sex worker ควรเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย

ขณะที่ประเด็นสิทธิเด็ก ประชาชนผู้ลงคะแนนโหวตส่วนใหญ่ เห็นว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีวุฒิภาวะมากพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในเรื่องต่าง ๆ อันสอดคล้องและไปเป็นตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาดี สำหรับประเด็นการสมรสเท่าเทียมของคนทุกเพศได้รับเสียงโหวตเห็นด้วยเกือบทั้งหมด ส่วนผลโหวตประเด็นโทษประหารชีวิตช่วยลดอาชญากรรมหรือไม่นั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก คือ ประมาณร้อยละ รร ต่อร้อยละ 45

"การสำรวจความคิดเห็นจากกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นเพื่อวัดการรับรู้และมุมมองของประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในสังคมที่ยังเป็นข้อถกเถียง ซึ่งแม้จะไม่ได้สะท้อนความเห็นที่แท้จริงของคนในสังคมทั้งหมด แต่ในทุกประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องที่ กสม. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง เสียงสะท้อนเหล่านี้ จะเป็นประ โยชน์ต่อการทำงานของ กสม. โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มุมมอง และความเชื่อของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ต่อไป" รองเลขาธิการ กสม. กล่าว

related