svasdssvasds

โรคใหลตาย เขียนยังไง? คำที่หลายคนอาจเคยชิน เขียนผิดเป็น โรคไหลตาย

โรคใหลตาย เขียนยังไง? คำที่หลายคนอาจเคยชิน เขียนผิดเป็น โรคไหลตาย

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เผยข้อถกเถียง กรณีปัญหาการสะกดชื่อโรคใหลตาย หรือ ไหลตาย สรุปได้ข้ออันยุติได้ว่าโรคนี้ควรต้องเขียนว่า โรคใหลตาย

 นับเป็นความสูญเสียของวงการบันเทิงไทยอีกครั้ง หลังนักแสดงมากฝีมืออนาคตไกลอย่าง "บีม ปภังกร" ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 25 ย่าง 26 ปี ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่า นักแสดงหนุ่มนอนหลับไป (ใหลตาย) ทางครอบครัวพยายามปลุกแต่ไม่ตื่น จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งทีมแพทย์ได้พยายามกู้ชีพแล้วแต่ไม่เป็นผล

 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (Office of the Royal Society) ได้เผยเรื่องราวที่เป็นข้อถกเถียง กรณีปัญหาการสะกดชื่อใหลตาย หรือ ไหลตาย โดยได้เคยเสนอไปครั้งหนึ่งแล้วในฉบับเดือนมกราคม ๒๕๓๓ ในครั้งนั้นยังไม่มีข้อยุติว่าควรเขียนชื่อโรคนี้ด้วย ใ ไม้ม้วน หรือ ไ ไม้มลาย เนื่องจากยังมีความเห็นและเอกสารที่ขัดแย้งกันอยู่

 ฝ่ายที่เห็นควรให้สะกดด้วย ใ ไม้ม้วน เป็นใหลตาย เพราะเห็นว่า ผู้ตายตายในขณะนอนหลับไม่ได้สติ น่าจะมาจากคำว่า “หลับใหล” ฝ่ายที่เห็นว่าควรเขียนด้วย ไ ไม้มลาย เป็น ไหล เพราะเห็นว่า คำ “ไหล” เป็นภาษาถิ่น-อีสาน ซึ่งพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน-ภาคกลาง ฉบับปณิธาน ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสฺมหาเถระ) ก็เก็บคำนี้โดยใช้ ไม้มลาย และคำนี้ไม่ใช่เป็น ๑ ใน ๒๐ คำที่ต้องเขียนด้วย ไม้ม้วน อีกทั้งเป็นชื่อโรค จึงควรถือเป็นคำวิสามานยนาม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• เปิดประวัติ บีม ปภังกร นักแสดงอนาคตไกล ก่อนจากไปในวัย 25 ปี

โรคใหลตาย สัญญาณอันตราย ที่คนตายไม่รู้ตัว

• ใหลตาย !! โรคที่ "หมดลมหายใจ" ไม่รู้ตัว หรือ "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน"

 ต่อมาคณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้หยิบยกปัญหาการสะกดคำชื่อโรคนี้มาพิจารณาหาข้อยุติอีกครั้งหนึ่ง ในการพิจารณาหาข้อยุตินี้ คณะกรรมการฯ ได้สอบค้นเอกสารการสะกดคำภาษาถิ่นอีสานจากพจนานุกรมต่างๆ ที่มีผู้รวบรวมขึ้น เช่น พจนานุกรม-อีสาน-กลาง ฉบับมหาวิทยาลัยของแก่น-สหวิทยาลัยอีสาน สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของ ดร. ปรีชา พิณทอง ไม่พบว่ามีฉบับใดที่เก็บคำ “ไหล” (สะกดด้วยไม้มลาย) ในความหมายว่า “นอนหลับเพ้อไป พูดในเวลาหลับ หรือละเมอ” เลย  มีเฉพาะแต่พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน-ภาคกลาง ฉบับของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ฉบับเดียวเท่านั้นที่เก็บคำนี้โดยใช้ไม้มลาย พจนานุกรมฉบับนี้ได้อ้างที่มาว่าสอบค้นจากพจนานุกรมภาษาลาว

เมื่อคณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้สอบค้นพจนานุกรมภาษาลาว กลับพบว่าคำภาษาลาวที่มีความหมายว่า “ละเมอ” นั้น พจนานุกรมภาษาลาวได้เก็บไว้ที่คำ เหลื โดยเก็บไว้ดังนี้

• ใหล ก. เหลื

• เหลื ก. เอิ้นหรือฮ้องในเวลานอนหลับหรือในเวลาตื่นตกใจจนหลงสติ

 เมื่อเป็นเช่นนี้ คำภาษาถิ่นอีสานที่มีความหมายว่า “ละเมอ” จึงตรงกับคำในภาษาลาวว่า “เหลื” (อ่านว่า เหลอ) ซึ่งเทียบกับคำภาษาไทยกรุงเทพฯ ได้ว่า “ใหล” อย่างในคำ หลับใหล

 แนวเทียบนี้ดูได้จากคำใอไม้ม้วนทั้ง ๒๐ คำ เทียบคำภาษาไทยถิ่นนอกประเทศ เช่น ภาษาไทยใหญ่ในรัชานฐาน ภาษาพ่าเก่ คำตี และอ่ายตอนในรัฐอัสสัม คำที่ออกเสียง เออ เช่น ใจ เป็น เจอ ใส่ เป็น เส่อ ใส เป็น เสอ (ส่วน ใหล เป็น เหลอ มีใช้แต่ในภาษาพ่าเก่ หมายว่าละเมอ นอนเหลือ คือนอนละเมอ)

 

 เสียง เออ นี้ไม่ใช่ เออ อย่างในภาษาทั่วไป แต่เป็น เออ ที่เป็นเสียงสระประสม อา กับ อือ ซึ่งไม่มีในภาษาของเรา รูปเขียนจึงไม่มี ต้องใช้รูปไม้ม้วนแทน (ในหนังสือ กาเลหม่านไต ของ ศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา ได้ลองกำหนดใช้ เออ-อ เช่น ใจ เป็น เจอ-อ ใส่ เป็น เส่อ-อ และ ใหล เป็น เหลอ-อ)

ดังนั้น จึงเป็นอันยุติได้ว่าโรคนี้ควรต้องเขียนว่า ใหลตาย

ไหลตาย หรือ ใหลตาย ไม่ได้เป็นเพียงคำเดียว ที่มีปัญหาการใช้ไม่ตรงกันระหว่างราชบัณฑิตสภา กับสาธารณชน เพราะแม้ราชบัณฑิตสภาจะมีหน้าที่ในการกำหนดรูปแบบที่ถูกต้อง หรือมาตรฐานของการใช้คำต่างๆ ทั้งที่เป็นคำใหม่ หรือคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นบรรทัดฐานร่วมกัน แต่ความถนัดและความนิยมในการใช้งานของประชาชนในสังคม ก็มีส่วนสำคัญที่จะกำหนดว่า คำใดจะถูกเลือกมาใช้งานหรือไม่ ไหลตาย หรือ ใหลตาย ก็ยังเป็นประเด็นในการถกเถียงกันได้อยู่ แม้ราชบัณฑิตจะกำหนดให้ใช้คำว่าใหลตาย มาตั้งแต่ พ.ศ.2533 แล้วก็ตาม

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๓

related