เปิด 7 ความผิดร้ายแรง ที่มนุษย์เงินเดือนต้องระวัง เพราะอาจทำให้นายจ้างสามารถไล่ออกได้ทันที และไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย หรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าใดๆ
จากกรณีที่คิวเทโอปป้า หรือ คิวเท ซิม ยูทูปเบอร์เกาหลีคนดัง เปิดเผยเรื่องราวดราม่าทีมงานช่อง Youtube ของตนเองผ่านเฟซบุ๊ก Kyutae Oppa โดยมีใจความสำคัญว่าถูกขโมยของแบรนด์เนม, ขายข้อมูลบริษัท, นินทาลับหลัง และยังรวมตัวกันกดดันขอขึ้นเงินเดือน
คิวเทโอปป้า ระบุว่า มีพนักงานตำแหน่ง ตากล้อง มีพฤติกรรมขโมยของแบรนด์เนม นินทาว่าร้าย หมิ่นประมาท, เลขา นำข้อมูลบริษัทไปบอกพนักงานสร้างความแตกแยก และนำไปให้บุคคลนอก
ทั้งนี้หากมาดูรายละเอียดในทางกฎหมาย สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง คือสัญญาต่างตอบแทนที่ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ในความเป็นจริงสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าของนายจ้างย่อมนำมาซึ่งอำนาจการต่อรองที่มากกว่า จึงมีการเอาเปรียบและกดขี่ลูกจ้างตามที่เห็นๆกันไม่เว้นแต่ละวัน
จึงเป็นที่มาของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างไว้ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบอีก แต่ถึงกระนั้นก็เถอะไม่ได้หมายความว่าเมื่อกฎหมายได้เข้ามาอุ้มคุ้มครองลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจะทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้
เพราะหากลูกจ้างกระทำการบางอย่างที่กฎหมายเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ลูกจ้างไม่ควรกระทำ กฎหมายก็ให้สิทธินายจ้างสามารถไล่ลูกจ้างออกได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เตือนสติ! เพจกฎหมายแรงงานเผย ลูกจ้างแค่บ่นเจ้านายลงโซเชียล ก็โดนไล่ออกได้
• แชร์สนั่น! พนักงานเงินเดือน 3 หมื่น "ไม่พอ" ขอแบ่งครึ่งกำไรทั้งหมด
• ผลสำรวจ เผยหลัง WFH พนักงาน 86% ไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศทุกวัน
7 พฤติกรรมที่ต้องห้ามสำหรับมนุษย์เงินเดือน
• ทุจริตต่อหน้าที่ คำว่า “ทุจริต” ในที่นี้กฎหมายก็ไม่ได้ให้คำนิยามเอาไว้โดยตรง จึงต้องพึงพาพจนานุกรมกันไปพลางก่อน โดยคำว่า “ทุจริต”นั้น ตามพจนานุกรม หมายถึง ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง
ตัวอย่างเช่น การนำกล้องถ่ายรูปที่นายจ้างได้รับจากการสมนาคุณไปใช้เป็นการส่วนตัวโดยพลการ หรือการนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ของนายจ้างที่มีไว้เพื่อใช้ในการทำงานของนายจ้าง มาใช้ในการทำงานส่วนตัวของลูกจ้าง ศาลท่านก็ตีความว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นต้น
• กระทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง คือ ลูกจ้างได้ทำสิ่งที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่อนายจ้าง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือโดยประมาท ตัวอย่างเช่น เจตนาฆ่าหรือทำร้ายร่างกายนายจ้าง ทำลายทรัพย์สินของนายจ้างให้ได้รับความเสียหาย ลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินของนายจ้างไปเป็นของตัวเอง เป็นต้น แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า ถ้าเป็นกรณีที่นายจ้างใช้ให้ลูกจ้างไปทำสิ่งที่เป็นความผิดอาญา แต่ลูกจ้างทำไม่สำเร็จหรือทำสำเร็จแต่มีความบกพร่อง นายจ้างจะยกเอาความไม่สำเร็จหรือความบกพร่องดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างไปเจรจาต่อรองขอลดค่าภาษีต่อเจ้าหน้าที่เขต โดยเสนอเงินให้กับเจ้าหน้าที่เขตเป็นจำนวนเงิน 350,000 บาท เมื่อเจ้าหน้าที่เขตรับเงินไว้โดยลูกจ้างไม่จัดทำเอกสารหลักฐานการรับเงิน นายจ้างจะยกเหตุบกพร่องดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้ เพราะนายจ้างใช้ให้ลูกจ้างไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้าง เป็นต้น
• ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง กรณีนี้จะมีความใกล้เคียงกับจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายที่ต่างกันก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความประมาทจะต้องเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น นายจ้าง มีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานว่า หัวหน้างานต้องตรวจสอบการทำงานของพนักงานขับรถ ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทอย่างเคร่งครัด และติดตามผลการทำงานทุกๆชั่วโมง เมื่อลูกจ้างทั้งสองซึ่งเป็นหัวหน้างานละเลย ไม่ตรวจสอบการทำงานว่า พนักงานขับรถละทิ้งหน้าที่ ไม่นำรถไถเก็บเข้าไว้ในโรงงานตามระเบียบ จนรถไถสูญหายไป ศาลท่านตัดสินว่า ลูกจ้างทั้งสองประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายอย่างร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นต้น
• จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนั้น อาจเป็นกรณีที่ได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือความเสียหายที่เกิดจากมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างไปทำความเข้าใจกับพนักงานคนอื่นๆ ถึงเรื่องการย้ายสถานประกอบการและสอบถามความประสงค์ แต่ลูกจ้างกลับไปข่มขู่พนักงานคนอื่นๆ ว่าหากไม่ย้ายตามไปจะเล่นงานหรือจะฟ้องร้องคดี ศาลท่านมองว่าเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ของลูกจ้างด้วยกันและส่งผลกระทบต่อการย้ายสถานประกอบการของนายจ้างโดยตรง นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันที หรืออีกกรณีนึงก็คือ ลูกจ้างดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนายจ้าง ในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทอื่นที่มีการประกอบกิจการที่เหมือนกันและแข่งขันกัน ศาลท่านก็ถือว่าลูกจ้างเป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าของนายจ้างโดยตรง นายจ้างก็เลิกจ้างลูกจ้างได้ทันทีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตว่า การจะเลิกจ้างในกรณีนี้ ได้ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้าง “จงใจ” ให้นายจ้างได้รับความเสียหายเท่านั้น การที่ลูกจ้างเป็นญาติสนิทหรือสามีภริยากับบุคคลที่ทำงานอยู่ในบริษัทซึ่งเป็นคู่แข่งขันทางการค้ากับนายจ้าง ศาลเคยตัดสินว่ายังไม่เพียงพอที่จะถือว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อันจะเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้ เว้นแต่ ลูกจ้างจะนำความลับทางการค้าของนายจ้างไปเปิดเผย หรือนายจ้างได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ชัดเจนว่าไม่รับสมัครบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทคู่แข่ง เป็นต้น
• ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ข้อบังคับการทำงานหรือระเบียบของนายจ้างจะว่าไปก็เหมือนกับกฎหมายประจำองค์กรที่พนักงานงานต้องยึดถือปฏิบัติตามนั่นเอง ซึ่งหากฝ่าฝืนนายจ้างมีสิทธิออกหนังสือเตือนลูกจ้างได้ และถ้าลูกจ้างทำซ้ำคำเตือนอีก นายจ้างก็มีสิทธิไล่ออกได้ เว้นแต่ ในกรณีร้ายแรงนายจ้างสามารถไล่ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหนังสือเตือนก่อน
ยกตัวอย่างเช่น การห้ามเล่นการพนันหรือดื่มสุราในเวลางาน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ขอให้สังเกตว่า ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นนอกเวลางานหรือนอกสถานที่ทำงาน ศาลอาจตีความว่าเป็นกรณีไม่ร้ายแรงก็ได้ หากนายจ้างประสงค์จะไล่ออกต้องตักเตือนเป็นหนังสือเสียก่อน หากไล่ออกทันที นายจ้างต้องเสียค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างหลายคนสวมใส่ชุดยูนิฟอร์มของนายจ้างไปเล่นไพ่หลังเลิกงานนอกสถานที่ทำงาน แล้วถูกตำรวจจับกุม ศาลมองว่าแม้การเล่นไพ่ดังกล่าวจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของนายจ้างอยู่บ้าง แต่ผู้ที่เสื่อมเสียจริงๆ คือลูกจ้างที่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างดังกล่าวฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้างอย่างร้ายแรง เป็นต้น
• ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล การได้รับโทษจำคุกที่จะให้สิทธินายจ้างไล่ออกได้นั้น เฉพาะโทษจำคุกที่เกิดจากการกระทำความผิดโดย “เจตนา” เท่านั้น และคำพิพากษาที่ได้รับนั้นต้องเป็นคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้อีก ในกรณีโทษจำคุกที่ลงเกิดจากการกระทำความผิดโดย “ประมาท” หรือเป็น “ความผิดลหุโทษ” (ความผิดไม่ร้ายแรง) นายจ้างต้องได้รับความเสียหายด้วย มิฉะนั้นนายจ้างไม่มีสิทธิไล่ลูกจ้างออก หากนายจ้างหมั่นไส้ไล่ออกขึ้นมานายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ด้วย
• ขอขอบคุณที่มา
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
• พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
• คำพิพากษาฎีกาที่ 8417/2551, 12820/2553, 4919/2552, 13587/2556, 4204/2551, 3529/2557, 19494/2556