ชบางกอกแอร์เวย์สมั่นใจดีมานด์ท่องเที่ยวกลับ เปิดแผนรับนักท่องเที่ยว ชู “สมุย” เป็นจุดหมายปลายทางหลัก เตรียมกลับมาบินเส้นทางเมืองท่องเที่ยว คาดปลายปีกลับมาเปิดมัลดีฟส์
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวประมาณ 40% หลังจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเส้นทางบินที่จะเปิดเพิ่มเติมในปี 2565 ได้แก่ กรุงเทพฯ-กระบี่ ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 27 มีนาคม 2565 ส่วนในไตรมาสที่ 3 ได้แก่ เส้นทางการบินสมุย–เชียงใหม่ สมุย-ฮ่องกง กรุงเทพฯ-เสียมราฐ ขณะที่ไตรมาสที่ 4 จะเปิดเส้นทางบิน เชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) เชียงใหม่-ภูเก็ต (เที่ยวเดียว) สมุย-กระบี่ กรุงเทพฯ–ดานัง กรุงเทพฯ - หลวงพระบาง กรุงเทพฯ ย่างกุ้ง และ กรุงเทพฯ– มัลดีฟส์ อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินต่าง ๆ นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว มาตรการการเดินทางของแต่ละประเทศ และการควบคุมสถานการณ์โควิด–19 ที่อาจยังไม่คลี่คลาย”
“ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเครื่องบินจำนวน 37 ลำ โดยแผนการบริหารฝูงบินโดยภายในสิ้นปี 2565 จะมีเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 30 ลำ โดยจะทยอยคืน Airbus A320 จำนวน 5 ลำ ซึ่งครบกำหนดสัญญาแล้ว รวมถึงจำหน่ายเครื่องบิน ATR72-500 อีกจำนวน 2 ลำ”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ยกระดับมาตรฐานด้านการซ่อมบำรุง โดยได้รับใบรับรองหน่วยซ่อม ซึ่งผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรฐาน ตามข้อกำหนดใหม่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานแบบ Airbus และ ATR ทั้งในระดับ Base Maintenance และ Line Maintenance
สำหรับในปี 2565 บริษัทฯ ได้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 2.6 ล้านคน ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสาร 8,175 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 3.4 หมื่นเที่ยวบิน มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 65% และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 3,100 บาท
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี กล่าวถึง ในปี 2564 ว่า “บริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 5,668.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 44.5 เมื่อเทียบกับปี 2563 ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 8,145.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 45.4 ผลขาดทุนสุทธิของบริษัทฯ ในปี 2564 เท่ากับ 8,599.8 ล้านบาท โดยมีรายการขาดทุนสุทธิจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย จำนวน 5,434,7 ล้านบาท ในขณะที่ผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2564 เท่ากับ 2,532.5 ล้านบาท ขาดทุนลดลงร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปี 2563
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย โดยเน้นประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ลดเครื่องบินเช่าดำเนินงานเมื่อหมดอายุสัญญาจำนวน 5 ลำ ในปี 2565 ปรับเส้นทางบินให้ตรงกับความต้องการในการเดินทางโดยเน้นเส้นทางบินที่เชื่อมต่อสนามบินสมุย การได้รับการปรับลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน การจัดการด้านบุคลากรให้เหมาะสม การรักษาสภาพคล่องทางการเงิน การรักษาประสิทธิภาพยานพาหนะเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น การบำรุงรักษา ตลอดจนการได้รับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ ในด้านภาษี
ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ในปี 2564 บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ มีรายได้อยู่ที่ 119.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 61 เนื่องจากมีจำนวนเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรรณภูมิและสนามบินภูเก็ตลดลง บริษัท ภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไลด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด มีรายได้ 1,122.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18 ทั้งนี้มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจึงทำให้มีกำไรอยู่ที่ 237 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด มีรายได้ในปี 2564 อยู่ที่ 2,140.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 รายได้ที่เติบโตดังกล่าวมาจากอัตราการใช้บริการคลังสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น”