svasdssvasds

เปิดแนวทาง 4 ระยะ หลังมติเห็นชอบปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ก.ค. นี้

เปิดแนวทาง 4 ระยะ หลังมติเห็นชอบปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ก.ค. นี้

ไฟเขียว! เปิดแนวทาง 4 ระยะ หลัง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มติเห็นชอบ มาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาด โควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น คาดปลาย มิ.ย. ผู้ติดเชื้อจะลดลง และ 1 ก.ค. โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 2 พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง โดยมีวาระประชุม อาทิ ความก้าวหน้าให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการออกหนังสือรับรองสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีโควิด-19, การรายงานสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ , มาตรการเข้าประเทศสำหรับผู้เดินทางในกลุ่ม เทสแอนโก , แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัยดูแล รักษาป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 

ส่วนประเด็นที่น่าจับตา คือ มาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาด โควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น

โดยนายอนุทิน ระบุภายหลังการประชุมว่า ประเด็นสำคัญที่ประชุมเห็นชอบ หลักการแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งเวลานี้หลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านโควิด 19 ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปยุโรป 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ของไทยเน้นอยู่ บนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เช่น มาตรการ, การเฝ้าระวังและมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ, การเฝ้าระวังในประเทศ, การสอบสวนโรค, การบริหารจัดการวัคซีน, มาตรการป้องกันและควบคุมโรค, มาตรการด้านการแพทย์ รวมถึงมาตรการทางกฎหมายที่จะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับการยกเลิกประกาศ พรก.ฉุกเฉินเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรการทางสังคมในส่วนของประชาชน ก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลอยู่  และเคร่งเรื่องการรับวัคซีนตามกำหนด

โดยจะมีขั้นตอนกำหนดตามสถานการณ์เป็นระยะๆ เป้า 4 เดือนต่อจากนี้  ภายใต้ความปลอดภัยของประชาชน 

ปัจจัยการพิจารณา คือ  อัตราการการควบคุมโรค, อัตราการเสียชีวิตภายในประเทศ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก เบื้องต้นที่หลักสากลกำหนดอยู่ที่ 1 ในพัน หมายความว่า ใน1พันคนมีผู้เสียชีวิต1 คน หรือ อัตราผู้เสียชีวิต เฉลี่ยต้อง ไม่เกิน ร้อยละ 0.1, ความพร้อมยาในการรองรับผู้ป่วย , การเข้าถึงยาอย่างรวดเร็ว 

โดยขอให้กรมควบคุมโรค ทำข้อมูลอย่างละเอียดในการจำแนกปัจจัยการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อจะได้รู้ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุการเสียชีวิต รวมไปถึงมาตรการทางสังคมอื่นๆที่จะต้องมีการปรับให้สอดลคล้องเช่นการยกเลิก ประกาศ พรก.ฉุกเฉินเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด -19 

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงรายละเอียดแนวทางมาตรการโรคประจำถิ่น  เป็นการวางเป้าภายใน 4 เดือน คาดการณ์ว่าปลายเดือนมิถุนายน จำนวนผู้ติดเชื้อละลดลงอยู่ที่ประมาณ 1,000 - 2,000 คนต่อวัน ซึ่งจะทำให้การรักษาสามารถรองรับได้ 

 

  • ระยะแรก 12 มีนาคม - ต้นเมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้นของการแพร่ระบาด
    - ยังคงมาตรการควบคุมโรคเหมือนเดิม
    - ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศยังคงต้องตรวจเชื้อ rt-pcr ในวันแรก
    - รวมถึงการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK  ในวันที่ 5 และหากยังไม่ได้รับวัคซีนให้กักตัว 10 วัน 

 

  • ระยะ2 ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ยังเป็นช่วงที่การระบาดสูง
    - ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ให้ตรวจด้วยชุดตรวจ  ATK ในวันแรก และวันที่ 5 ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนให้กักตัว 5 วัน 

 

  • ระยะ3  ปลายเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน  เป็นช่วงผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง
    - ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ได้รับวัคซีน ให้ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ที่สนามบิน 

 

  • ระยะ4 หรือ ระยะหลัง ช่วง30 มิถุนายน จะเริ่มเป็นโรคติดต่อทั่วไป
    - ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไม่ต้องตรวจหาเชื้อทั้ง ATK และ RT-PCR 

 

ส่วนการสอบสวนโรคในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ยังคงต้องควบคุม คลัสเตอร์กลุ่มเสี่ยงรุนแรง คลัสเตอร์ ระบาดเป็นวงกว้าง เพื่อลดการเสียชีวิต ส่วนระยะที่ 3 และระยะที่ 4 การสอบสวนโรค จะเน้นการค้นหา ปัจจัยต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 

ขณะที่มาตรการควบคุมโรค ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ยังคงควบคุมในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอยู่ / ส่วนระยะที่ 3 และระยะที่ 4 สถานที่ส่วนใหญ่เปิดได้ตามปกติ เช่น สถานบันเทิงผับบาร์ที่สามารถเปิดได้ แต่ยังคงมาตรการสาธารณสุข

related