svasdssvasds

สรุปให้ "เลย์ญี่ปุ่น" เรียกคืนสินค้าไทย อ้างมีสารปนเปื้อน ล่าสุดแจงแล้ว

สรุปให้ "เลย์ญี่ปุ่น" เรียกคืนสินค้าไทย อ้างมีสารปนเปื้อน ล่าสุดแจงแล้ว

สรุปให้ "เลย์ญี่ปุ่น" เรียกคืนสินค้าผลิตจากไทย อ้างมีสารปนเปื้อน "ไกลโคแอลคาลอยด์" สูงกว่าปกติในขนมขบเคี้ยวมันฝรั่งทอดกรอบ ล่าสุด บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ออกจดหมายชี้แจงแล้วปลอดภัย ไร้สารตกค้าง

จากกรณีที่มีข่าว บริษัท Frito-Lay ญี่ปุ่น ได้ตรวจพบสารไกลโคแอลคาลอยด์สูงกว่าปกติในขนมขบเคี้ยวมันฝรั่งทอดกรอบ "เลย์ ออริจินัล" ซึ่งเป็นล็อตที่ผลิตจากประเทศไทย เพื่อการส่งออก ทำให้บริษัทต้องเรียกคืนสินค้าดังกล่าวทันที

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าว ถูกนำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น"  โดยระบุเนื้อหาว่า "บริษัท Frito-Lay ญี่ปุ่น พบสารไกลโคแอลคาลอยด์สูงจาก Lay's ที่นำเข้าจากไทย เรียกของคืนกลับ ผู้ซื้อสามารถขอเงินคืนได้"

เพจเฟซบุ๊ก "ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น"

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

โดยเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 บริษัท Frito-Lay ญี่ปุ่น ได้ตรวจพบสารไกลโคแอลคาลอยด์ (รวมทั้งโซลานีน และชาโคนีน) ที่มีความเข้มข้นสูงจากส่วนหนึ่งของมันฝรั่งแผ่นทอด "เลย์ ออริจินัล" นำเข้าและจำหน่ายโดยบริษัท Japan Frito-Lay Co., Ltd. บริษัทขอให้ผู้ที่ซื้อไปแล้ว สามารถส่งของกลับเพื่อขอเงินคืนได้

ทั้งนี้ มันฝรั่งซึ่งมักจะเป็นวัตถุดิบสำหรับมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ จากการวิเคราะห์โดยสถาบันวิเคราะห์ พบว่า ไกลโคแอลคาลอยด์ (โซลานีน, ชาโคนีน) มีค่าสูง ปริมาณของไกลโคแอลคาลอยด์แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมันฝรั่งแต่ละลูก ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของมันแต่ละหัว

อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่า หากกินไกลโคแอลคาลอยด์ในปริมาณมากในคราวเดียว อาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ท้องร่วง อาเจียน และปวดท้อง ทาง Frito-Lay ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจเรียกคืนโดยสมัครใจ โดยหากมีสินค้าอยู่ในครอบครอง ทางบริษัทได้ขออภัยในความไม่สะดวก โปรดส่งสินค้าไปยังที่อยู่ต่อไปนี้ โดยชำระค่าธรรมเนียม ทางบริษัทจะคืนเงินในภายหลัง

ทั้งนี้ จำนวนสินค้าที่จะขอคืน มีทั้งสิ้น 3,348 ถุง และมีวันหมดอายุวันที่ 6 มี.ค. 65 ที่จะถึงนี้ หากผู้ที่ซื้อไปต้องการส่งสินค้าคืนสามารถส่งคืนได้ที่ Japan Frito-Lay Co., Ltd. 14-2 Kitatone, Koga, Ibaraki 306-0213

อนึ่ง ไกลโคแอลคาลอยด์ เป็นสารพิษธรรมชาติชนิดหนึ่งที่สังเคราะห์โดยมันฝรั่ง เป็นแอลคาลอยด์ที่ต่ออยู่กับโมเลกุลของน้ำตาล นอกจากนี้ยังมี แอลฟา-โซลานีน (alpha-solanine) และแอลฟา-ชาโคนีน (alpha-chaconine) อีกด้วย

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

กรณีดังกล่าว ทำให้ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ออกจดหมายชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อมา โดยได้ระบุว่า

 

กรณีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์โดยสมัครใจของ บริษัท Frito-Lay ประเทศญี่ปุ่น สำหรับผลิตภัณฑ์ Lay's Original Salt [ Lot วันหมดอายุ 6 มีนาคม 2565, รหัส: 4902443590703, ขนาด 140 กรัม ] ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศไทยเพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

ตามที่บริษัท Frito-Lay ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการเผยแพร่ข้อมูล กรณีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์โดยสมัครใจ สำหรับ ผลิตภัณฑ์ Lay's Original Salt [ Lot วันหมดอายุ 6 มีนาคม 2565, รหัส: 4902443590703, ขนาด140 กรัม ] หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องผลิตภัณฑ์มีรสขม และฝาดหลังรับประทานนั้น

หลังจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ Lot ดังกล่าวในห้องปฏิบัติการ บริษัท Frito-Lay ประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบสารไกลโคแอลคาลอยด์ในระดับที่สูงกว่าปกติ จึงให้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์โดยสมัครใจจากผู้บริโภค

ทั้งนี้สารไกลโคแอลคาลอยด์เป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในมันฝรั่ง สารดังกล่าวไม่ได้เกิดจากสารตกค้างหรือสารเติมแต่ง และไม่มีการปนเปื้อนแต่อย่างใด

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า(ไทย)เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” ขอรับรองว่ามันฝรั่งทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์ของบริษัทในประเทศไทย นั้นมีคุณภาพ และความปลอดภัยในระดับสูงสุดที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล และเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศไทยอย่างเคร่งครัด

PepsiCo มุ่งมั่นที่จะผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรสชาติเยี่ยมที่มีคุณภาพสูงสุดในทุกส่วนของโลกเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตรงตามหรือสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัย และคุณภาพที่เข้มงวด บริษัทใช้เฉพาะส่วนผสมที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่บังคับใช้เท่านั้น

จดหมายชี้แจง

 

ในกรณีดังกล่าวเกิดการตั้งคำถามในกระทู้พันทิพย์ว่า สาร "ไกลโคแอลคาลอยด์" เป็นอันตรายขนาดไหน และกินเข้าไปจะมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งก็ได้มีผู้ใช้งานรายหนึ่งเข้ามาตอบไว้ว่า 

"ไกลโคแอลคาลอยด์ อยู่ตามธรรมชาติในมันฝรั่ง ซึ่งจะเกิดในทุกส่วนของมันฝรั่ง พบสูงสุดที่ดอกและหน่อ และจะพบปริมาณต่ำสุดในหัวมันฝรั่ง  โดยทั่วไปแล้วจะพบประมาณ 10 - 150 mg/kg ของน้ำหนักมันฝรั่ง

ไกลโคแอลคาลอยด์ จะพบได้เข้มข้น ในชั้นที่ลึกลงไปประมาณ 1.5 มม. ใต้เปลือกมันฝรั่ง (30 - 80% ของทั้งลูกจะพบในเปลือก)  ดังนั้น  การปอกมันฝรั่งให้กินลึกลงไปในเนื้อมากหน่อยจะลดระดับของสารนี้ได้อย่างมาก

หากปล่อยหัวมันฝรั่งให้เกิดสีเขียวจะเป็นอันตราย เพราะสีเขียวบ่งบอกถึงการก่อตัวของคลอโรฟิลล์  จากงานวิจัยพบว่า การก่อตัวของคลอโรฟิลล์ และ ไกลโคแอลคาลอยด์ เกิดขึ้นควบคู่กัน ดังนั้นจึงถือได้ว่าการเขียวเป็นข้อบ่งชี้การเพิ่มระดับของ  ไกลโคแอลคาลอยด์

สาร ไกลโคแอลคาลอยด์ ในระดับสูงเป็นพิษต่อมนุษย์ อาการเฉียบพลันมักเกิดขึ้นหลังจากกินไป 30 นาที ถึง 12 ชั่วโมง ได้แก่ คลื่นไส้  อาเจียน  ปวดท้อง  และท้องร่วง  กรณีที่รุนแรงกว่าคือจะมีผลกระทบทางระบบประสาท 

แต่ .... การที่เราจะกินมันฝรั่งที่มีปริมาณ ไกลโคแอลคาลอยด์ สูงจนมีผลต่อระบบประสาท นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะความเข้มข้นของ ไกลโคแอลคาลอยด์ ที่สูงกว่า 200 mg/kg  จะมีรสขมมาก และจะแสบร้อนในลำคอและปาก ไกลโคแอลคาลอยด์ จะไม่ถูกทำลายโดยการปรุงอาหารหรือการทอด เพราะสารนี้จะสลายตัวที่อุณหภูมิสูงถึง 280 ℃"

หัวมันฝรั่งเกิดสีเขียวบ่งบอกถึงการก่อตัวของคลอโรฟิลล์

ที่มา Ministry of Health, Labour and Welfare,  Food Channel, เพจเฟซบุ๊ก ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น

related