svasdssvasds

DES เผย 10 ข่าวปลอม ที่คนให้ความสนใจมากที่สุด เงินกู้-ค่าแรง คนแชร์เยอะสุด

DES เผย 10 ข่าวปลอม ที่คนให้ความสนใจมากที่สุด เงินกู้-ค่าแรง คนแชร์เยอะสุด

กระทรวงดิจิทัลฯ สรุป"ข่าวปลอม" ในรอบสัปดาห์ พบเฟคนิวส์อ้างชื่อสถาบันการเงินเปิดให้กู้เงินแบบให้เปล่า-ผ่อนต่ำ และข่าวลวงเรื่องแรงงานและค่าแรง ติด Top 10 คนสนใจสูงสุด

 น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้อง และรายได้ครัวเรือน ส่งผลให้มีการสร้างและเผยแพร่ข่าวปลอม โดยใช้ประโยชน์จากความกังวลของประชาชนในเรื่องดังกล่าว เพื่อดึงดูดความสนใจ และลวงให้มีการส่งต่อข่าวปลอมเพื่อเข้าถึงคนในวงกว้าง

 พบว่าเริ่มมีความถี่ของข่าวปลอมที่อ้างชื่อสถาบันการเงินว่ามีโปรแกรมเงินกู้เงื่อนไขพิเศษ ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง และยังพบข่าวปลอมในประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงานและค่าแรงอีกด้วย ซึ่งทั้งสองเรื่องติดอันดับข่าวปลอมที่มีคนสนใจจำนวนมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ข่าวปลอม! กรมจัดหางาน จัดให้คนว่างงาน เข้าร่วมกิจกรรมรับเงินแสน

• ข่าวปลอม! ช่วงทดลองงาน ลาป่วยจะไม่ได้รับเงินค่าจ้าง

• ข่าวปลอม! พนักงานติดโควิด-19 กักตัว 14 วัน บริษัทมีสิทธิ์ไม่จ่ายเงิน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 7-13 ม.ค. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า

ข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 มัสยิดกลายเป็นสาขาของธนาคารอิสลาม 1,000 แห่งทั่วประเทศ

อันดับ 2 ใช้นิ้วหัวแม่มือจิกร่องระหว่างปากและใต้จมูก ช่วยคนที่วูบหมดสติ ให้ฟื้นคืน

อันดับ 3 มุสลิมไทยได้เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารอิสลามทุกคน สามารถกู้เงินโดยไม่ต้องใช้หนี้คืนได้

อันดับ 4 บขส. หยุดเดินรถทุกเส้นทางทั่วประเทศไทย

อันดับ 5 ธ.ออมสิน ให้กู้ซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ผ่อนคืนเดือนละ 10 บาท

อันดับ 6 รักษาอาการเจ็บตาด้วยตนเอง โดยใช้น้ำนมแม่หยอดตา

อันดับ 7 กรมการจัดหางานจัดให้คนว่างงาน หรือหารายได้เสริม เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับเงินแสน

อันดับ 8 นายกฯ สั่ง ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด มีความเสี่ยงสูง

อันดับ 9 ไมโครเวฟปล่อยคลื่นวิทยุออกมาขณะอุ่นอาหารทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

อันดับ 10 ลูกจ้างทดลองงาน หากใช้สิทธิลาป่วยจะไม่ได้รับเงินค่าจ้างในวันที่ลาป่วย

 สำหรับในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความเข้ามาทั้งสิ้น 11,529,633 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 202 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 91 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 35 เรื่อง

“อยากขอความร่วมมือจากประชาชน เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87” นางสาวนพวรรณกล่าว

related