“ทางด่วน” 5 สาย เปิดให้ใช้บริการจ่ายค่าทางด่วน ด้วย ด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless เลี่ยงการใช้เงินสด ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดความแออัดของปริมาณรถสะสมบริเวณหน้าด่าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ว่า ระบบนี้จะช่วยให้ประชาชนที่ใช้บริการทางด่วนเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพียงแตะและจ่ายค่าทางด่วนด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียว ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัสจะใช้เทคโนโลยีแบบไร้สายในพิกัดสั้น (Contactless) นอกจากนี้ ได้มอบให้บริษัท รถไฟฟ้าและทางด่วน จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม พิจารณาต่อยอดระบบดังกล่าวในการชำระค่าธรรมเนียมในระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น อาทิ รถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) รถเมล์ และรถไฟ
เทคโนโลยี EMV Contactless หรือ Europay MasterCard and VISA เป็นระบบการชำระเงินที่ออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าผ่านทาง ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย โดยมีขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่ขับรถเข้าช่องเงินสด ลดกระจก และแตะบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ที่ลดการใช้และลดการสัมผัสเงินสด เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการชำระเงินที่เป็นมาตรฐานระดับสากล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ใครใช้เส้นนี้เช็กเลย! ประกาศขึ้นค่าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เริ่ม 15 ธ.ค.
• ข่าวดี! เที่ยวปีใหม่ 2565 ขึ้นทางด่วนฟรี 5 วันรวด ดีเดย์ 30 ธ.ค. 64 - 3 ม.ค. 65
• ทำไปได้...คลิปรถบรรทุก 18 ล้อขับรถย้อนศรลงทางด่วน
จากระบบ EMV จะพัฒนาสู่ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ เอ็มโฟล์ว ซึ่งเมื่อใช้ระบบนี้แล้วจะค่อยๆ ลดการชำระเงินระบบอื่นลง เพราะถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะใช้เวลาพอสมควรที่ระบบเอ็มโฟล์ว จะใช้ครบทุกด่าน 100% อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ในระยะแรกจะใช้ควบคู่กันไปก่อน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีช่องเก็บเงินที่ใช้ EMV ได้ 5 ด่าน ประมาณ 30% ของช่องเก็บเงิน ในช่วงที่เปิดทดลองใช้ก่อนหน้านี้มีผู้ใช้บัตร EMV ขึ้นทางด่วนประมาณ 1% ของผู้ใช้ทางด่วน
ปัจจุบันเปิดให้บริการ 5 สายทาง ได้แก่
• ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
• ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
• ทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกฯ
• ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด)
• ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)
ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการทางพิเศษเป็นอย่างดี มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยกว่าการชำระค่าผ่านทางด้วยเงินสด ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการทางพิเศษ และลดความแออัดของปริมาณรถสะสมบริเวณหน้าด่าน รวมถึงลดการสัมผัสเงินสดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกสายทาง
สำหรับระบบการชำระเงินดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture) หรือ EDC ที่ได้มาตรฐานที่ช่องเงินสดทุกช่อง โดยผู้ใช้ทางมั่นใจได้ว่าระบบดังกล่าว มีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังได้นำระบบ Krungthai Digital Platform มาช่วยบริหารต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเงินสดของค่าผ่านทางพิเศษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ