svasdssvasds

ศบค.สั่งห้าม 8 ประเทศเข้า สกัดโควิดโอไมครอน ใครลงทะเบียนมาก่อน ต้องกัก 14 วัน

ศบค.สั่งห้าม 8 ประเทศเข้า สกัดโควิดโอไมครอน ใครลงทะเบียนมาก่อน ต้องกัก 14 วัน

ศบค. เผย สถานการณ์โลกติดเชื้อโควิดสูงขึ้นแม้ฉีดวัคซีนแล้ว จับตาเวียดนาม ตัวเลขพุ่ง ขณะไทยห่วงคลัสเตอร์ร้านอาหารทั้งใน-นอกห้าง ย้ำห้าม 8 ประเทศแอฟริกาเข้าไทยสกัด "โควิดโอไมครอน" ส่วนผู้ที่มาก่อนต้องกักตัว 14 วัน

 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า การติดเชื้อต่างประเทศหลายประเทศ ตัวเลขขยับขึ้นสูง เช่น สหราชอาณาจักร ตุรกี ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งประเทศเหล่านี้มีประชากรที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรค่อนข้างสูง และผ่อนคลายให้ประชาชนเลิกสวมหน้ากาก ร้านเปิดอิสระ แต่ตอนนี้หลายประเทศกลับมาคุมเข้มจนเกิดการประท้วงในหลายพื้นที่

ในส่วนของเอเชีย มาเลเซีย ตัวเลขลดลงต่อเนื่องใกล้กันกับประเทศไทย ที่น่าจับตาคือ เวียดนาม ตัวเลขกระโดดขึ้นไปที่ 12,936 ราย ซึ่งทิศทางของเอเชียยังถือว่าทรงๆ 

 สำหรับการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอไมครอน นอกจากทวีปแอฟริกาที่มีรายงานการพบเชื้อยืนยันหลายประเทศแล้ว ในยุโรปก็มีรายงานแล้ว ทั้งอิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเช็ก และเดนมาร์ก ซึ่งกลุ่มนี้เป็นการพบเชื้อจากประชาชนที่เดินทางจากกลุ่มแอฟริกา ในส่วนของเอเชียมีอยู่ที่ฮ่องกงและอิสราเอล รวมไปถึงประเทศออสเตรเลียด้วย ซึ่งการแพร่ระบาดวงกว้างทั่วโลก ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมวาระฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อปรับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับมาตรการที่หลายประเทศปรับเปลี่ยน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ศบค.ยกเลิกพื้นที่สีแดงเข้ม ทั่วไทยไม่มีเคอร์ฟิว ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน

• แพทย์แอฟริกาใต้ ผู้พบโควิดโอไมครอน (Omicron) เผยคนไข้ป่วยอาการไม่รุนแรง

• ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยข้อมูล "โอไมครอน" เชื้อร้ายกลายพันธุ์ไร้ขีดจำกัด

 ทั้งนี้มีรายงานว่าสายพันธุ์โอไมครอน แพร่กระจายได้เร็วกว่าเดลต้า ซึ่งปัจจัยในการเกิดเชื้อกลายพันธุ์ มักเป็นประเทศที่มีประชากรได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ ทำให้ภูมิคุ้มกันน้อย จึงเกิดเชื้อกลายพันธุ์และมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงย้ำว่า หากไม่รณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้มากที่สุด ไทยก็อาจเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้เช่นกัน

สำหรับข้อมูลผู้เดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้ 1-27 พฤศจิกายน 2564 มี 1,007 ราย ซึ่งมีผลตรวจ rt-pcr วันที่เดินทางถึงไทยเป็นลบ ตอกย้ำว่ามาตรการคัดกรองของสาธารณสุขไทย คัดกรองตรวจจับเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

 ส่วนผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเข้าไทยก่อนหน้านี้ จะต้อง sandbox กักตัวเท่านั้น และหลัง 27 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ไม่อนุญาตให้เข้ามา แต่ถ้าใครลงทะเบียนมาก่อน ก็ต้องกักตัว 14 วัน ตรวจ rt-pcr 3 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 0-1 , 5-6 และ12-13 นอกจากนี้ยังมีการประกาศเพิ่มในกลุ่ม 8 ประเทศว่า หลัง 1 ธันวาคม ห้ามเข้าประเทศไทย ยกเว้นเฉพาะคนไทย

  ส่วนกลุ่มประชาชนที่เดินทางจากทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศ เงื่อนไขจะแตกต่างจากประเภทแรกคือ เข้าไทยได้จะต้องเป็นประเภท sandbox และกักตัว ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนขอเข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน และหากลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ จะต้องมีการกักตัว 14 วัน ตรวจ rt-pcr 3 ครั้ง

 ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึง 15 พฤศจิกายน ให้นับไปจนถึง 5 ธ.ค. ขอให้เจ้าหน้าที่เจ้าพนักงานโรคติดต่อ เฝ้าระวังติดตามอาการของคนกลุ่มนี้ให้ครบ 14 วัน โดยกระทรวงท่องเที่ยวฯ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ประมาณเกือบ 200 ราย ซึ่งสามารถติดตามได้ทั้งหมด ส่วนผู้ที่เดินทางถึงไทยตั้งแต่ 6 ธันวาคม เป็นต้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน

 นอกจากนี้ ศบค. ชุดใหญ่ มีการประเมินนักท่องเที่ยว เมื่อเดินทางถึงไทย มีการประกาศวันที่ 16 ธันวาคม จะมีการตรวจโดยใช้ atk ซึ่งที่ประชุมสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยน โดยขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนขอให้ติดตามอีกครั้ง เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้

 ผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยาน ตั้งแต่ 1-28 พฤศจิกายน 2564 สะสม 122,398 ราย พบติดเชื้อจากการ rt-pcr  160 ราย คิดเป็น 0.13% ส่วนวันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่อีก 11 ราย พร้อมแจ้งให้ทราบว่าการเดินทางเข้า-ออก อาจต้องตรวจสอบเอกสารที่มากขึ้น

 สำหรับผู้ติดเชื้อวันนี้ 4,753 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 4,684 ราย จากเรือนจำ 57 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 12 ราย หายป่วย 6,165 ราย รักษาอยู่ 77,811 ราย อาการหนัก 1,369 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 330 ราย เสียชีวิต 27 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 92,360,417 โดส

 CI หรือ Community isolation หรือศูนย์แยกกัก ใน กทม. ขณะนี้มีกว่า 6,000 เตียง ใน 54 แห่ง ยังต้องเปิดไว้ โดยมีการครองเตียงอยู่ที่ 83 ราย ส่วนโรงพยาบาลสนามใน กทม. ยังมี 8 แห่ง ทั้งนี้การคาดหวังให้ตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์ คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราต้องพิจารณาควบคู่กับมาตรการ ซึ่งวันนี้กรมการแพทย์ ได้มอบหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในส่วนของ กทม. ให้กับสำนักการแพทย์ กทม.

 สำหรับผู้เสียชีวิต 27 ราย เป็นกลุ่มสูงอายุและมีโรคประจำตัว คิดเป็น 100% และมีผู้ป่วยติดเตียง 2 ราย ซึ่งได้รับเชื้อจากลูกหลาน ซึ่งรายงานการติดเชื้อจากคนใกล้ชิดมากกว่า 80% และส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งกรมควบคุมโรครายงานว่า แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ แต่จากการรายงานสะสมพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตที่มีประวัติการฉีดวัคซีนครบ มีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ซึ่งหมายความว่า การฉีดวัคซีนจะยังช่วยให้ปลอดภัย และลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตยังกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ทิศทางค่อนข้างลดลง โดย จ.สมุทรสาคร ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ส่วน 4 จังหวัดที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด คือ สงขลา นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และขอนแก่น ซึ่งมีเคสมากกว่า 100 คนต่อวัน , ขณะที่ 6 จังหวัดติดเชื้อระหว่าง 50 ถึง 100 คนต่อวัน ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร พัทลุง ราชบุรี สระบุรี และสตูล ซึ่งก็ยังต้องติดตามใกล้ชิด , ส่วน 5 จังหวัด ที่พบผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น คือ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เชียงราย ลำพูน และสิงห์บุรี 

สำหรับจังหวัดสีฟ้าที่จะเปิดใหม่ตามประกาศ ศบค. 1 ธันวาคมนี้ คือ นนทบุรี ปทุมธานี กาญจนบุรี และบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีฟ้าเปิดบางอำเภอเพิ่ม เช่นเชียงราย เชียงใหม่ อยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ จันทบุรี และตราด ส่วนสงขลา เปิด 16 ธันวาคมนี้ที่ อ.เมือง สะเดา และหาดใหญ่ ทั้งนี้ต้องเน้นย้ำประชาชนในพื้นที่จังหวัดสีฟ้าแม้จะมีการฉีดวัคซีนเกิน 70% แต่ก็ขอให้ระดมสรรพกำลังตลอดสัปดาห์นี้

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุดในประเทศประกอบด้วย กทม. 605 ราย นครศรีธรรมราช 381 ราย สงขลา 354 ราย สุราษฎร์ธานี 254 ราย เชียงใหม่ 186 ราย สมุทรปราการ 149 ราย ชลบุรี 147 ราย ภูเก็ต 133 ราย ปัตตานี 121 ราย นครราชสีมา 110 ราย

 ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดถึงและเป็นห่วงคือ คลัสเตอร์ร้านอาหาร ซึ่งมีรายงานเพิ่มขึ้น ทั้งนอกห้างและในห้าง อันจะมีผลต่อการเปิดสถานบันเทิง นอกจากนี้ ศบค. ยังได้รับรายงานว่า ร้านอาหารมีการแอบจำหน่ายแอลกอฮอล์ และแอบเปิดบริการคล้ายผับ บาร์ ก็ต้องเน้นย้ำว่าที่ประชุมมีแผนจะเปิดสถานบันเทิง 16 มกราคม 2565 ดังนั้นระหว่างนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะเปิดได้ และเมื่อเปิดแล้วต้องค่อยเป็นค่อยไป ปิดให้บริการ 23:00 น. และปิดร้านไหน 24:00 น.

 ส่วนการร้องคาราโอเกะ การเต้นรำ การเวียนดื่มแก้วเดียวกัน การส่งเสริมการขายที่ทำให้เกิดการแออัด กิจกรรมร่วมกันระหว่างลูกค้าและพนักงาน ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ทั้งนี้หากเปิดไปแล้ว แต่ละหลวม ไม่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกปิดอีกรอบ ทั้งนี้สถานการณ์ โควิด-19 จะคาดหวังให้เป็นเหมือนเดิมคงเป็นไปไม่ได้ อย่างเช่น การเข้าร่วมฟูมูนปาร์ตี้ การรวมกลุ่มดื่มกิน เต้นรำ สนุกสนานเฮฮา ปีนี้คงยังเป็นไปไม่ได้ พร้อมขอความร่วมมือในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ให้ระมัดระวังด้วย เพราะเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา ยังพบคลัสเตอร์ประปราย

related