มัลแวร์ Joker ไวรัสแฝงที่มาในรูปแบบของแอปพลิเคชั่น ที่โหลดผ่าน Google Play Store ของผู้ใช้โทรศัพท์ Android ที่จะเจาะข้อมูลในมือถือของเรา กดทำธุรกรรมอัตโนมัติ หรืออาจจะส่งข้อความไปยังเพื่อนของเรา ก่อนจะปล่อยมัลแวร์ไปยังอุปกรณ์ของอีกฝ่ายได้อีกด้วย
เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างมากในยุคนี้ โดยเฉพาะการใช้บริการที่สะดวกสบายมากขึ้นเพียงแค่ผ่านปลายนิ้ว เราก็สามารถที่จะก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลเพียงแค่คลิ๊กเดียว อันตรายในโลกไซเบอร์จึงใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ โดยเฉพาะภัยที่มาในรูปแบบของมัลแวร์ (Malware) ไม่ว่าจะเป็นไวรัส , โทรจัน , วอร์ม หรือ สปายแวร์ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความเสียหายในระบบหรืออุปกรณ์ที่เราใช้ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ แต่ตอนนี้มีความอันตรายมากขึ้นเพราะมัลแวร์สามารถที่จะเจาะข้อมูล ดูดข้อมูล หรือแม้แต่ปลอมเป็นเรา ในการทำธุรกรรมอัตโนมัติ หรือหลอกไปส่งลิงก์ที่มีไวรัสไปให้กับเพื่อนของเรา
ล่าสุด Tatyana shishkova นักวิเคราะห์จากบริษัทรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) ได้ออกมาแจ้งเตือนผ่านทาง Twitter สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์ Android เกี่ยวกับการกลับมาของมัลแวร์ Joker ที่มีศักยภาพบน Google Play Store อย่างน้อย 15 แอปพลิเคชั่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดยเมื่อปีที่แล้วมัลแวร์ Joker สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ใช้มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยพบว่ามีบางแอปพลิเคชั่นที่ถูกมัลแวร์แทรกแซง ทำให้ต้องลบออกจาก Google Play Store แต่ดูเหมือนว่ามัลแวร์จะกลับมาที่ Google Play Store อีกครั้ง โดยพบว่าแอปบางตัวที่ติดมัลแวร์ Joker ค่อนข้างเป็นที่นิยม มีผู้ใช้ติดตั้งมากกว่า 50,000 ครั้ง ในขณะเดียวกันก็มีบางแอปที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ดังนั้นแม้ว่าลบแอปออกจาก Google Play Store แล้ว แต่หากผู้ใช้มีการโหลดและติดตั้งไว้ในโทรศัพท์ของตัวเอง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง
มัลแวร์ Joker คืออะไรและทำหน้าที่อะไร?
มัลแวร์ Joker มักจะแฝงเข้าไปในแอปยอดนิยมบน Google Play Store และเข้าสู่โทรศัพท์ของผู้ใช้เมื่อดาวน์โหลดแอปดังกล่าว มัลแวร์ Joker สามารถเข้าสู่ Google Play Store ผ่านการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในโค้ด และเลี่ยงการรักษาความปลอดภัยและการตรวจสอบของ Play Store โดยมีการพบครั้งแรกในปี 2560 และ Google ได้พยายามอย่างหนักในการรักษาความปลอดภัยผู้ใช้จากมัลแวร์นี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
รูปแบบที่อันตรายของ มัลแวร์ Joker
เมื่อผู้ใช้ได้โหลดแอปที่มีมัลแวร์ Joker แฝงใน Google Play Store มัลแวร์ Joker จะแอบขโมยเงินจากผู้ใช้โดยวิธีการที่หลากหลาย บางครั้งอาจจะสมัครใช้บริการออนไลน์อัตโนมัติโดยที่ผู้ใช้ไม่ทราบ มันยังสามารถคลิกโฆษณาออนไลน์โดยอัตโนมัติและสามารถเข้าถึง OTP จาก SMS เพื่ออนุมัติการชำระเงินอย่างลับๆ โดยผู้ใช้จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาหรือเธอสมัครใช้บริการออนไลน์ดังกล่าวไปแล้ว หากไม่ตรวจสอบใบแจ้งยอดจากธนาคาร
รายชื่อ 15 แอปอันตราย มัลแวร์ Joker ควรลบออกจากออกจากโทรศัพท์ทันที
1. Easy PDF Scanner
2. Now QRCode Scan
3. Super-Click VPN
4. Volume Booster Louder Sound Equalizer
5. Battery Charging Animation Bubble Effects
6. Smart TV Remote
7. Volume Boosting Hearing Aid
8. Flashlight Flash Alert on Call
9. Halloween Coloring
10. Classic Emoji Keyboard
11. Super Hero-Effect
12. Dazzling Keyboard
13. EmojiOne Keyboard
14. Battery Charging Animation Wallpaper
15. Blender Photo Editor-Easy Photo Background Editor
อาการของมือถือที่อาจมีมัลแวร์ Joker
สื่อดังอย่าง TheSun ระบุว่าสิ่งแรกที่ผู้ใช้ต้องทำคือลบแอปเฉพาะเหล่านี้ออกจากอุปกรณ์โดยเร็วที่สุด และทำการสแกนไวรัสเพื่อดูว่าเกิดความเสียหายหรือไม่ โดยอาการทั่วไปที่พบว่าโทรศัพท์ติดมัลแวร์คือ แอปหยุดทำงานโดยไม่มีสาเหตุ อุปกรณ์ทำงานช้ากว่าปกติ หรือหากผู้ใช้สังเกตเห็นการใช้ข้อมูลหรือแบตเตอรี่พุ่งสูงผิดปกติขึ้น อาจหมายความว่ามัลแวร์กำลังทำงานในอุปกรณ์เรานั่นเอง
วิธีป้องกันมือถือให้ปลอดภัยจากมัลแวร์ Joker
Kaspersky ยังตั้งข้อสังเกตว่ามัลแวร์สามารถใช้โทรศัพท์ของเราในการส่งข้อความไปยังเพื่อนหรือบุคคลภายในรายชื่อผู้ติดต่อของเรา ก่อนจะปล่อยมัลแวร์ไปยังอุปกรณ์ของอีกฝ่ายได้อีกด้วย
เคล็ดลับอีกประการหนึ่งที่เผยแพร่คือให้ผู้ใช้เบราว์เซอร์ "เน้นความเป็นส่วนตัว" และตรวจสอบให้แน่ใจว่าการตั้งค่าความปลอดภัยของผู้ใช้ถูกล็อกอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้มัลแวร์ติดไวรัสในโทรศัพท์ของเรา เพราะมัลแวร์ไม่ได้มาแค่ในรูปแบบของแอปเท่านั้น แต่อาจเป็นไฟล์อื่นๆ ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์หรือลิงก์ที่น่าสงสัยก็ได้เช่นกัน
ข้อมูลจาก : news18