พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าหมื่นมาเกือบ 2 สัปดาห์ แต่ภาพรวมประเทศยังระบาดหนักอยู่ในหลายจังหวัด รับห่วงเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ นักท่องเที่ยวรับเชื้อในประเทศ แล้วแพร่กระจายต่อ
31 ต.ค.64 พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anutra Chittinandana ระบุว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าหมื่นมาเกือบ 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่รวม ATK ผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ทั้งหมดลดลงจากสูงสุด 2 แสนกว่าคน เหลือต่ำกว่าแสนอยู่ 4 วัน ตอนนี้ขึ้นมาเกินแสนเล็กน้อย โดยผู้ป่วยนอก รพ.ลดลง แต่ผู้ป่วยใน รพ.เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยอาการหนักลดลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกันผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจลดลงเหลือ 500 คน จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดกว่า 1200 คน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตค่อย ๆ ลดลงเช่นกัน การที่ความรุนแรงของโรคและอัตราเสียชีวิต ที่ลดลงถึงแม้ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังทรง ๆ น่าจะเป็นผลจากการได้รับวัคซีนโควิด 19 กันมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.ย้ำ เปิดประเทศวันแรก แต่ยังต้องป้องกันสถานการณ์โควิดอย่างเข้มข้น
ทอท.เผย 6 สนามบินคึกคัก เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย.นี้
ด่วน! ศบค.ไฟเขียวคลายล็อกดาวน์ 4 จังหวัด นั่งดื่มในร้านได้ เริ่ม 1 พ.ย.
อันนี้เป็นภาพรวมทั้งประเทศ แต่สถานการณ์การระบาดและการรักษาใน รพ. ยังหนักหนาสาหัสอยู่ในหลายจังหวัด อย่างเช่นทางภาคใต้ และจังหวัดเชียงใหม่ สภาพปัจจุบันในพื้นที่ระบาดหนักน่าจะใกล้เคียงกับ กทม.และปริมณฑลในช่วงที่เคสสูงสุดตอนช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมเลย
ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์ของระบบรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 ส่วนใหญ่จะคลี่คลายลง โดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล แต่ก็ไม่ใช่ว่าบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่การระบาดลดลงจะสบายขึ้นมากนะครับ เรามีผู้ป่วยโรคทั่วไปที่ไม่ใช่โควิด 19 กลับมารับการรักษาเพิ่มขึ้นหลังจากอัดอั้นอยู่ในช่วงการระบาดหนัก ผู้ป่วยผ่าตัด ทำหัดถการ วินิจฉัยและรักษาโรคเริ่มกลับมา คงต้องระวังไม่ให้มีการระบาดหนักขึ้นอีก เพราะเราอาจไม่สามารถปรับการรักษาพยาบาลให้กลับมาเหมือนตอนที่เคยมีผู้ป่วยโควิด 19 ใน รพ. รวมผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจที่เคยสูงสุดกว่า 2 เท่าของภาระในปัจจุบันได้อีก
จะเปิดประเทศในวันพรุ่งนี้ 1 พฤศจิกายน 2564 ด้วยมาตรการรับนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน แต่ยังต้องดูว่ามาตรการที่บอกไว้จะนำสู่การปฏิบัติได้ดีมากน้อยแค่ไหน เช่น นักท่องเที่ยวที่มาต้องรับวัคซีนครบถ้วน จะมีการตรวจสอบได้อย่างไรว่าเป็นจริง ผลการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทางจะตรวจสอบว่าเป็นผลจริงได้อย่างไร การตรวจ RT-PCR ตอนเข้าประเทศจะทำให้อย่างไรให้รวดเร็ว ไม่มีการเล็ดลอด แล้วผลต้องออกภายใน 24 ชม. ถ้าผลบวกเราจะสามารถกักกันได้ทันการหรือไม่ สิ่งเหล่านี้หวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะได้มีการดำเนินการอย่างเข้มแข็งตามมาตรการที่วางไว้
หมออนุตตร ยังได้ระบุอีกว่า โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าสามารถปฏิบัติตามมาตรการที่กล่าวมาได้ โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาจะมีโอกาสน้อย แต่ที่น่ากังวลคือนักท่องเที่ยวจะมารับเชื้อภายในประเทศ แล้วไปแพร่เชื้อต่อให้กับนักท่องเที่ยวหรือคนไทยมากกว่า เพราะมาตรการการป้องกันโรคของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน หลาย ๆ ประเทศตอนนี้ก็ไม่ได้เคร่งครัดมาตรการเท่าไหร่ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยเราจะบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ได้อย่างไร ขนาดคนไทยกันเองเรายังบังคับกันไม่ค่อยได้คงต้องช่วยกันทุกภาคส่วน
ภาครัฐต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้อย่างเข้มงวด ไม่ละเว้นการปฏิบัติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวหรืออิทธิพลใด และต้องมีการประเมินสถานการณ์การระบาดหลังการเปิดประเทศหรือเปิดกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่เพียงให้ความสำคัญกับตัวเลขการระบาด แต่ต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ของระบบรักษาพยาบาลในแต่ละพื้นที่ ว่าเพียงพอในการรับภาระการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และปรับมาตรการต่าง ๆ ให้ทันกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเร่งกระจายวัคซีนให้เพียงพอกันทั้งประเทศ
ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง COVID-free setting เช่นเรื่องการระบายอากาศที่ดี การเว้นระยะห่าง การให้พนักงานฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน และตรวจ ATK เป็นระยะ โดยต้องเคร่งครัดมาตรการการป้องกันโรคโดยไม่ละเว้น ทั้งกับลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ
ภาคประชาชนต้องช่วยกันคงมาตรการ DMHTT และ Universal prevention ด้วยการเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงที่แออัด และรับวัคซีนเมื่อมีโอกาสโดยไม่ลังเล รวมทั้งต้องเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ หากพบมีการละเมิดมาตรการป้องกันโรค คงต้องไม่นิ่งเฉย แจ้งให้ จนท.ทราบ
ส่วนพวกเราบุคลากรทางการแพทย์ก็คงทำได้แต่ทำงานของเราให้ดีที่สุด และหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะไม่กลับมาเลวร้ายเหมือนที่ผ่านมา พวกเราคงไม่อาจเรียกร้องให้ปิดประเทศต่อไปอีก เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมก็รุนแรงเช่นกัน และแนวโน้มทั่วโลกในการเปิดเศรษฐกิจก็เป็นแบบเดียวกัน แต่อย่างไรพวกเราก็ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ ขอแสดงความขอบคุณ ห่วงใยและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทุกท่าน และขอบคุณทุกฝ่ายที่จะร่วมมือร่วมใจกันฝ่าวิกฤติโควิด 19 นี้ไปด้วยกัน