svasdssvasds

โกโก้ “ห้วยคต” เกษตรสูตรใหม่ ปฎิบัติดีมีมาตรฐานGAP

โกโก้ “ห้วยคต” เกษตรสูตรใหม่ ปฎิบัติดีมีมาตรฐานGAP

สมาชิกเกษตรกร สหกรณ์ห้วยคต จ.อุทัยธานี พลิกชีวิตจากปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาปลูก โกโก้ พืชที่ให้ผลผลิตทำรายได้ ได้ตลอดทั้งปี

ในอดีต สมาชิกเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด   จังหวัดอุทัยธานี นิยมปลูกสับปะรด อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละครั้งและยังต้องผจญปัจจัยที่ส่งผลต่อรายได้ที่ไม่แน่นอน อาทิ ฝนแล้ง น้ำท่วมและราคาผลผลิตตกต่ำ

สหกรณ์ฯ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้สมาชิกฯ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวบางส่วน มาเพาะปลูกพืชที่สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี อย่าง “โกโก้”และต่อยอด้วยการให้สมาชิกนำผลผลิตขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตอีกด้วย

โสพล กังวาฬ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด และเกษตรกรสวนโกโก้ เล่าว่า เริ่มแรกทำไร่ข้าวโพด และหันมาปลูกสับปะรด รวมถึงปลูกพืชไร่อื่นๆ ได้ผลผลิตไม่ค่อยแน่นอน ดังนั้นสหกรณ์จึงเข้ามาสนับสนุนให้หันมาปลูก“โกโก้” 

“เรียกได้ว่าสนับสนุนตั้งแต่ต้นพันธุ์และสินเชื่อ พร้อมกับบอกว่าโกโก้จะให้ผลผลิตที่ดีและสามารถเก็บขายได้ในระยะยาวจากการปลูกครั้งเดียว แต่อยู่ได้นาน” 

แม้พืชโกโก้ จะให้ผลผลิตที่ดีแล้วแต่การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเป็นกลยุทธ์สำคัญของการเกษตรยุคแข่งขันสูงในปัจจุบันนี้ ดังนั้น การต่อยอดผลผลิตด้วยการทำให้คุณภาพผลผลิตได้มาตรฐานGAP จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะมั่นใจว่าโกโก้จากสหกรณ์ห้วยคตจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดผู้รับซื้อ
 

ผลิตภัณฑ์โกโก้ สมชาย ปรีเปรม สมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด และเกษตรกรสวนโกโก้ เสริมว่า ผลผลิตที่ว่าดีคือสามารถตัดได้ประมาณครั้งละ 200 กว่าโลก เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง และในชุดผลผลิตช่วงหลังๆจะยิ่งได้ปริมาณเพิ่มมากขึ้นอีก ด้านปริมาณผลผลิตที่ดีก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว ทางสหกรณ์ยังได้ย้ำเรื่องการทำมาตรฐาน GAP ด้วยการพาไปอบรมให้เข้าใจและปฎิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งพบว่าทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น 
อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่ามาตรฐานแล้ว การจะเข้าร่วมโครงการต้องมีเงื่อนไขการคัดกรองเพื่อให้ได้คุณภาพทั้งตัวเกษตรกร ปัจจัยการผลิต และเป้าหมายสุดท้ายคือมาตรฐานคุณภาพผลผลิตที่ได้ 

เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ ธนา รัดพัด หัวหน้าการตลาด สหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด จ. อุทัยธานี  เล่าถึงวิธีการคัดเลือกเกษตรกรร่วมโครงการโกโก้ห้วยคตตามมาตรฐาน GAP  ว่า ปัจจุบัน ผู้ปลูกโกโก้ ในโครงการฯจำนวน 90 ราย พื้นที่ 298 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 80%ของจำนวนสมาชิกที่ร่วมโครงการ
 

ในส่วนการทำตามมาตรฐานGAP  ก่อนอื่นต้องตรวจเอกสารสิทธิ์ที่ดิน  ตรวจสอบปัจจัยเรื่องน้ำ ตรวจสอบปัจจัยเรื่องดิน ทั้งนี้จะมีทีมงานเข้าไปประเมินแหล่งน้ำในพื้นที่ว่ามีเพียงพอกับการรดน้ำโกโก้หรือไม่เพราะโกโก้เป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกเดือนผลผลิตมากก็ย่อมต้องการน้ำมาก

นอกจากนี้จะตรวจสอบเรื่องของค่าPH  หรือความเป็นกรด-ด่างของดินให้มีความเหมาะสมกับพืช จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการให้คำแนะนำการปรับปรุงดิน การปรับคุณภาพการปลูกให้ได้มาตรฐาน GAP

พนาพร ปีติสกุลสวัสดิ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด จ.อุทัยธานี กล่าวว่า  โกโก้ เป็นพืชใหม่ของสหกรณ์จึงต้องเริ่มตั้งแต่เปิดรับสมัคร และให้การอบรม  การให้ความสำคัญต่อมาตรฐานGAP ไปพร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การเก็บเกี่ยว  ปลูก ต้น เพราะถ้าได้มาตรฐานแล้วสามารถส่งผลผลิตมาที่สหกรณ์เพื่อส่งต่อไปยังลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับGAP อย่างมาก

ทั้งนี้ GAP เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีมานด์ของตลาดปลายทางที่ไม่ได้ต้องการแค่สินค้าแต่ต้องการสินค้าที่มีการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีหากเกษตรกรทำได้หมายความว่าผลผลิตในมือที่มีอยู่เป็นสินค้าที่มีดีมานด์และจะนำไปสู่ราคาที่น่าสนใจตามมาในที่สุด
 

related