เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อให้ทันเวลาเปิดเทอมหน้า โดยรมว.สาธารณสุข ยืนยันว่าวัคซีนไฟเซอร์ มีความปลอดภัย และขอให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานมารับวัคซีนก่อนเปิดเรียนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีศึกษาธิการ ตรวจความคืบหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับนักเรียน 12-18 ปี ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โดยฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนทั้งหมด 2,492 คน ตั้งแต่ช่วงชั้น ม1.ถึง ม.6 ซึ่งได้แจ้งขอความประสงค์รับวัคซีน จากนักเรียนทั้งหมด 2,912 คน โดยมี 420 คนที่ไม่ขอรับวัคซีน ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่วงเวลา เพื่อลดความแออัด
โดยช่วงเช้าเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และช่วงบ่ายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนักเรียนที่จะเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ในวันนี้ จะต้องมีใบยินยอมจากผู้ปกครองมายืนยันเพื่อเข้ารับการฉีด ที่มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี เป็นผู้ให้บริการฉีดวัคซีนในวันนี้
ด้าน รมว.สาธารณสุข ยืนยัน กับผู้ปกครองว่า วัคซีนไฟเซอร์มีความปลอดภัย โดยจะเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียนไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมจำนวนทั้งหมด เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ เริ่มทยอยเข้ามา ตั้งแต่ 30 กันยายนที่ผ่านมาและจะเข้ามาเรื่อยๆ รวมถึงการเร่งจัดสรรวัคซีนให้กับโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้ดูแล เบื้องต้นคาดว่า จะพิจารณาเปิดเรียนได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• กรมควบคุมโรค เผย มีเด็กนักเรียนได้รับ "วัคซีนไฟเซอร์" แล้ว 6,093 ราย
• สธ. เผยมี "ไฟเซอร์" มาเพิ่ม 3 ล้านโดส ส่วนปี 65 จัดหาวัคซีนให้เด็ก 3 ขวบ 6 ล้านโดส
• สธ. ดีเดย์ฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" นักเรียนวันนี้ ด.ช.รับเข็มเดียวก่อน
สำหรับเดือนตุลาคมนี้ จะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาเพิ่มอีกจำนวน 8 ล้านโดส ซึ่งในจำนวนนี้ ก็จะถูกนำมาฉีดให้ นักเรียนอายุ12-18 ปี ทั่วประเทศ 5 ล้านคน แต่ขณะนี้มีนักเรียนแจ้งความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนไฟเตอร์อยู่ประมาณร้อยละ 80 หรือ ประมาณ 3 ล้าน 8แสนกว่าคน ส่วนจำนวนที่เหลือต้องให้เจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ขอให้นำลูกหลานมาฉีดวัคซีนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับเปิดเทอมและป้องกันความเสี่ยงหากติดเชื้อ หากวัคซีนเหลือก็จะถูกนำมาจัดสรรการฉีดให้กับกลุ่มอื่นต่อไป
ขณะที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายแนวทางการเปิดเรียนว่า หากจะเปิดเรียนจะต้องมีการประเมินโรงเรียนก่อน โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดเป็นผู้ประเมินความพร้อมรวมถึงสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาด้วย ที่สำคัญหากเปิดเรียนต้องอยู่ภายใต้การเรียนการสอนวิถีใหม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่แต่ละสถานศึกษาอาจจะต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนภายในโรงเรียนเพื่อลดความเสี่ยงในการ ติดเชื้อโควิค ถึงแม้เด็กนักเรียนและบุคลากรจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม เช่น สลับวันมาเรียนของแต่ละช่วงชั้น จำกัดนักเรียนแต่ละห้องในการเข้าเรียน