svasdssvasds

จาตุรนต์ โพสต์ รัฐประหาร 19 กันยา แตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆ อย่างไร

จาตุรนต์ โพสต์ รัฐประหาร 19 กันยา แตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆ อย่างไร

จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความ ความแตกต่างระหว่างรัฐประหาร 19 กันยา กับรัฐประหารครั้งก่อนๆ ชี้ ทำความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงและมีผลสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  รัฐประหาร 19 กันยา แตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆ อย่างไร โดยมีรายะลเอียดดังนี้

ผมเคยวิเคราะห์เกี่ยวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาแล้วหลายครั้งในแง่มุมต่างๆ ในโอกาสครบ 15 ปี ขอแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นว่าการรัฐประหาร 19 กันยา แตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆ อย่างไรดังนี้ครับ

จาตุรนต์ ฉายแสง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสมรู้ร่วมคิดกันอย่างเป็นระบบของฝ่ายที่ไม่เชื่อถือในประชาธิปไตย ที่สำคัญนอกจากกองทัพและองค์กรภาคประชาชนที่สามารถกระทำความผิดกฎหมายได้อย่างไม่จำกัดแล้ว ที่แปลกใหม่ก็คือขบวนการตุลาการภิวัฒน์และองค์กรอิสระ

2. การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการสกัดกั้นขัดขวางพัฒนาการทางการเมืองของระบบพรรคการเมืองและระบบรัฐสภา ที่กำลังทำให้ผู้มีอำนาจมาแต่เดิม ไม่สามารถกำหนดควบคุมความเป็นไปของบ้านเมืองได้อีกต่อไป

3. การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีระบบกลไกที่ซับซ้อนและมีอานุภาพสูงเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ยึดโยงกับประชาชน สามารถกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ตามอำเภอใจ

4. การรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ขัดต่อหลักนิติธรรมสากลที่กำหนดให้การใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลเป็นเรื่องทำได้ หากไม่ใช่การลงโทษทางอาญา แม้การลงโทษนั้นอาจร้ายแรงกว่าโทษทางอาญาหลายประเภทก็ตาม

รวมทั้งกำหนดให้การลงโทษบุคคลเนื่องจากความผูกพันกับองค์กร และการลงโทษเป็นหมู่คณะสามารถกระทำได้ แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะไม่ได้กระทำผิดใดๆ เลยก็ตาม

จาตุรนต์ ฉายแสง

5. การรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การทำให้กองทัพซึ่งมักไม่ขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือนอยู่แล้วในทางปฏิบัติที่เป็นจริงกลายเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร คือไม่ขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือนโดยกฎหมาย

6. หลังการรัฐประหารครั้งนี้ คณะรัฐประหารใช้การทำประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรมมาสร้างความชอบธรรมให้กับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นครั้งแรก และยังใช้การทำประชามติมาเป็นหลักเกณฑ์ที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้ยากจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 นี้ได้ทำความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงและมีผลสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

การรัฐประหารในปี 2557 เป็นความต่อเนื่องของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงมากยิ่งขึ้น และสืบทอดต่อเนื่องไปอีกให้ยาวนานที่สุด

ที่มา FB : Chaturon Chaisang

related