svasdssvasds

รัฐยกม.ธุรกิจบัณฑิตย์ นำร่อง Smart Campus 5G ขับเคลื่อนการศึกษาไทย

รัฐยกม.ธุรกิจบัณฑิตย์ นำร่อง Smart Campus 5G ขับเคลื่อนการศึกษาไทย

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPUได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยนำร่อง โครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G ซึ่งโครงการนี้อยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เผยถึงการได้รับเลือกให้เป็น มหาวิทยาลัยนำร่อง ภายใต้ โครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G  ว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะเป็นต้นแบบนำร่องในการนำเทคโนโลยี 5G มายกระดับคุณภาพด้านการศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยและของประเทศไทยให้เท่าทันยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน Teach and Learn from Anywhere และ Intelligent Hybrid Classroom พร้อมระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement

โดย DPU พร้อมจะเป็นต้นแบบแหล่งศึกษาเรียนรู้ทั้งแบบ On-Site และ Online ให้กับสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งสามารถนําไปทำซ้ำ ทำเสริม พัฒนา ต่อยอด รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา จากต้นแบบของ Smart Campus ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ควบคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ (Process) และการพัฒนาบุคลากร (People) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนเสริมสร้างให้ผู้สอนมีแรงจูงใจในการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ DPU ยังอาศัยกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว มาเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจในการเป็นนวัตกร (Innovator/Maker) ในอนาคต ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ด้านต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จริง โดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ เป็น Living Lab ก่อนจะขยายผลไปสู่การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้  และภายใต้โครงการนำร่องนี้ ยังเป็นการขยายโอกาสทางด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการและชุมชน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการเข้าถึงบริการทางวิชาการด้านต่างๆ ของ DPU หรือ เนื้อหาหลักสูตรด้าน Reskill & Upskill ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์แบบ Real-Time และมีการถ่ายทอดเนื้อหาในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

รัฐยกม.ธุรกิจบัณฑิตย์ นำร่อง Smart Campus 5G ขับเคลื่อนการศึกษาไทย

ดร.ดาริกา กล่าวด้วยว่า DPU มีความพร้อมสำหรับการเป็นต้นแบบ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในการผลิตกำลังคนให้มี Skill Set และ Mindset ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกยุคดิจิทัล ทั้งยังปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome-Based Education) เพื่อบ่มเพาะให้นักศึกษามีศักยภาพที่เป็นอัตลักษณ์พร้อมด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเรียกว่า มี DPU DNA 6 ประการ ประกอบด้วย 1) ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม 2) ทักษะด้านการค้นหาและแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์

3) มีความชาญฉลาดในทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นคว้าและแก้ปัญหา 4) ทักษะการสื่อสารและเจรจาอย่างมืออาชีพ 5) ทักษะการประสานงานเป็นทีม และ 6) ทักษะด้านความรอบรู้และวิเคราะห์แบบผู้ประกอบการ พร้อมนี้ DPU ยังได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดการการเรียนรู้ให้เป็นแบบ Active Learning โดยเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ทั้ง Offline และ Online และ Experiential Learning

“ในส่วนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นั้น ทางด้านกายภาพได้ปรับปรุงห้องเรียนและห้องปฏิบัติการต่างๆ และสร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าเรียน มีความเป็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน โดยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับการจัดอันดับจาก UI GreenMetric World University Ranking เป็นอันดับ 82 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน ส่วนด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางดิจิทัล มีการจัดเตรียมทั้ง Learning Management System platform และปรับปรุง Digital Infrastructure เพื่อสนับสนุนให้การจัดการเรียนรู้แบบ Tech and Learn From Anywhere รวมทั้งระบบ Data Intelligence เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และบริหารจัดการ” ดร.ดาริกา กล่าว

รัฐยกม.ธุรกิจบัณฑิตย์ นำร่อง Smart Campus 5G ขับเคลื่อนการศึกษาไทย

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ DPU ต้องเร่งขบวนการปรับตัวดังกล่าวข้างต้นให้รวดเร็วยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยจัดให้มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถจัดการเรียนการสอนทาง Online แบบ Live และตอบโต้ได้สองทาง  และจัดให้มี Hybrid Classroom เพื่อให้สอดรับกับมาตรการ Social Distancing โดยผู้เรียนส่วนหนึ่งสามารถเรียนรู้จากที่ใดก็ได้ แต่สามารถเรียนรู้และโต้ตอบกับผู้สอนได้แบบ Real-Time เสมือนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน ขณะเดียวกัน อาจารย์ผู้สอนยังมีส่วนร่วมและเร่งเพิ่มผลิต Online Content ควบคู่ไปกับการเพิ่มความเข้มข้นของการสร้างผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (Learning Engagement) และทบทวนรูปแบบการประเมินผลการเรียนรู้ (Assessment)

ทั้งนี้ในปัจจุบัน DPU มีนักศึกษาจำนวนกว่า 12,000 คนที่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้จากที่ใดก็ได้และในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนกว่า 3,000 คน ที่จะต้องเรียนผ่านออนไลน์แบบข้ามประเทศ ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ ทั้งแบบ Online และ Hybrid คือ การสร้างให้ผู้เรียนคงความสนใจและมีส่วนร่วมระหว่างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับ AI Video Analytics ในห้อง Intelligent Hybrid Classroom ต้นแบบ จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement แบบ Real-Time ทั้งการเรียน On-Site และการเรียน Online ซึ่งจะทำให้สามารถปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที

 ดร.ดาริกา กล่าวในตอนท้ายว่า สถาบันการศึกษาต่าง ๆ สามารถใช้ DPU เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาติดตั้งใช้งานเท่านั้น หากแต่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Technology) แบบบูรณาการ ควบคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการศึกษา (Process) และบุคลากร (People) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง 

related