ทบ.- สหรัฐฯ ตั้งโต๊ะแถลงปัดข่าว AFRIMS ในไทยปล่อยเชื้อโควิด-19 ยันภารกิจปลอดภัย มุ่งวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสุขภาพประชาชน ยันต้องดำเนินการทางกฎหมายกับคนปล่อยข่าว
พลโท สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย พลตรี ธำรงค์โรจน์ เต็มอุดม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และพันโทแบรนดอน แมคคาร์เธอร์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ) ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงกรณีมีการนำข่าวเท็จลงในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารและสถานการณ์โควิดฯ ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.)
พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก แถลงว่า ด้วยกองทัพบกได้ตรวจพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในโซเชียลมีเดีย โดยทวิตเตอร์แอคเคาท์หนึ่ง มีการตั้งข้อสังเกตและเชื่อมโยงว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสต์การแพทย์ทหาร (สวพท.) อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิดฯในไทย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหา หรือสมมติฐานที่ร้ายแรงมาก
กองทัพบกขอเรียนให้ทราบว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อข่าวเท็จดังกล่าวแล้ว เมื่อ 16 ส.ค. 64
สำหรับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.) หรือ AFRIMS เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2501 จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยและกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
โดยทำงานวิจัยร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อในประเทศไทยและภูมิภาคแถบนี้อย่างต่อเนื่องมากว่า 60 ปี นำมาซึ่งประโยชน์สู่กองทัพและประชาชนไทยและในภูมิภาค
นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ พ.ศ. 2548
และได้มีการศึกษาวิจัยโรคเขตร้อน โรคระบาด โรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางด้านการแพทย์ทั้งในส่วนสุขภาพกำลังพล ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ชายแดน และประเทศไทยในภาพรวม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เอาแล้ว! กองทัพไทย โต้กลับ ผู้ป่วยโควิดยืนยัน รถทหารไม่ได้ทิ้งกลางทาง
• กองทัพบก ฉีดวัคซีนซิโนแวค กำลังพลด่านหน้า-ทหารใหม่ทุกนาย แล้ว 114,000 นาย
• แฮชแท็ก #ขอซิโนแว็คให้กองทัพ เพราะเข้าใจว่าทหารควรได้วัคซีนที่ดีที่สุด
ล่าสุด สวพท. มีบทบาทสำคัญในสถานการณ์โควิดฯ โดยได้เป็นหน่วยงานเข้าตรวจคัดกรองโควิดในชุมชนพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในชุมชนทหาร และประชาชนทั่วไป
พลตรีธำรงค์โรจน์ เต็มอุดม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร แถลงถึงการบริหารจัดการขององค์กรนี้ว่า สวพท. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในเรื่อง
1. ดำเนินการวิเคราะห์ วิจัย ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารเพื่อสร้างเสริมสุขภาพทหาร
2.ให้บริการตรวจวินิจฉัยและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แก่ทหารและประชาชน
3.เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก
ทั้งนี้ในพื้นที่ชายแดน ภารกิจของ สวพท.ยังครอบคลุมเรื่องการเฝ้าระวังโรคของทหารตามแนวชายแดน เช่น ไข้มาลาเรีย, ไข้รากสาดใหญ่ เป็นต้น
และในปัจจุบัน สวพท.เป็นห้องปฏิบัติการในการตรวจคัดกรอง COVID-19
สำหรับในการทำงานร่วมกับทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาให้กับประชาชนไทยทุกคน ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ขอเรียนว่าเป็นการทำงานร่วมกันภายใต้การกำกับของ สวพท. ทั้งในด้านการวิจัย การเฝ้าระวังโรค การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
ซึ่งมาตรฐานห้องปฏิบัติการของทางสถาบันถือเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการต้นแบบที่มีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้สถาบันให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการและรักษามาตรฐานความปลอดภัย
ทางด้าน พันโทแบรนดอน แมคคาร์เธอร์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ) แถลงว่า กว่า 60 ปีที่ผ่านมา กองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพบกไทยร่วมทำงานกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ AFRIMS ในการต่อสู้กับโรคเขตร้อน เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการเผยแพร่เอกสารเท็จ และกล่าวหานักวิทยาศาสตร์ไทยและสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกันกว่า 400 คนที่ปฎิบัติงานอย่างมีอาชีพ และอุทิศตนทำงานในสถาบันแห่งนี้ จึงขอเรียนชี้แจงว่า
AFRIMS เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิผลและมีความสำคัญอย่างยิ่งระหว่างสหรัฐฯ และราชอาณาจักรไทย ในการช่วยรักษาชีวิตมนุษย์นับล้านคนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การทำงานร่วมกันแบบทวิภาคีใน AFRIMS ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ให้แก่ประเทศไทยและสหรัฐ แต่ยังรวมถึงการก้าวถึงเป้าหมายระดับโลก ความร่วมมือทั้งสองฝ่ายทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาค
ที่สำคัญอย่างยิ่ง มาตรฐานของห้องปฏิบัติการของเรามีความปลอดภัยสูง การวิจัยที่ AFRIMS มุ่งเน้นในการต่อสู้กับโรคเขตร้อนในภูมิภาค เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ชิกุนคุนย่า ชิการ์ โรคเชื้อไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ HIV
ความร่วมมือในงานวิจัยร่วมกันช่วยให้เราได้พัฒนาวัคซีนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งได้รักษาชีวิตของคนนับล้านทั่วโลก และเราจะยังคงดำเนินภารกิจต่อไป อาทิเช่น การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน mRNA ของจุฬาลงกรณ์ในช่วงการศึกษาขั้นต้น และผลของการศึกษาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มว่าปลอดภัยและมีประสิทธิผลต่อการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ภายในประเทศต่อไป
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการที่สหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะยืนหยัดเคียงข้างประเทศไทยจนกว่าโรคระบาดนี้จะถูกกำจัดลง
ที่ผ่านมา AFRIMS เป็นศูนย์ความร่วมมือหลักขององค์การอนามัยโลก ด้วยความร่วมมือกันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ต่อการระบาดของโรคทั่วภูมิภาคอาเซียน การสนับสนุนของ AFRIMS ช่วยสร้างความมั่นใจว่าราชอาณาจักรไทยจะยังคงเป็นผู้นำในด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน
ทุกสิ่งที่ทางสถาบันได้ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายไทยและสหรัฐฯ เพื่อรักษามาตรฐานสูงสุดของห้องปฏิบัติการ ซึ่งทำให้ AFRIMS เป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงสุดในโลก AFRIMS มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า ห้องปฏิบัติการ สิ่งส่งตรวจ พนักงาน และสาธารณชน มีความปลอดภัย และได้รับการรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา
ทั้งนี้เราตระหนักดีถึงบทบาทของความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ไทยและสหรัฐฯ ที่ AFRIMS ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ปลอดภัยและเคร่งครัดจะช่วยให้เราทุกคนปลอดภัย
ในช่วงท้ายของการแถลง พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวสรุปว่า ทบ.เข้าใจดีกว่า ปัจจุบัน ประชาชนมีความอ่อนไหวในข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์โควิดฯ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของข้อมูลเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรและความสัมพันธ์ของประเทศ จำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายควบคู่กับการชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับทราบ
ขอยืนยันว่า ทบ ได้ทุ่มเท ยึดมั่นในการดูแล ประชาชน และสนับสนุนรัฐบาลในสถานการณ์โควิดอย่างดีที่สุด ข่าวสารใดที่ประชาชนได้รับแล้วเกิดความไม่มั่นใจก็ขอให้ได้ตรวจสอบกับ ทบ. หรือหน่วยงานที่ถูกพาดพิง ก็จะช่วยกำจัดกระบวนการข่าวปลอมได้อีกทางหนึ่ง
ทบ.ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกอย่างในการช่วยเหลือประชาชนในทุกรูปแบบโดยใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อเป็นที่พึ่งของ ประชาชน