กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย "โควิดสายพันธ์เดลต้า"ระบาด 91% กระจายทั่ว 76 จังหวัด ขาด"สุพรรณบุรี" ชี้ ยังตรวจไม่พบไม่ได้แปลว่าไม่มี ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน ไม่ได้บอกผลอะไรและไม่คุ้มค่าตรวจ
10 ส.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ระบุ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 6 ส.ค. ทั่วประเทศมีการตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 จำนวน 1,632 ราย พบเป็นสายพันธุ์เดลตา 1,499 ราย คิดเป็น 91.9% สายพันธุ์อัลฟา 129 ราย คิดเป็น 7.9% และสายพันธุ์เบตา 4 ราย คิดเป็น 0.2% ซึ่งพบในภาคใต้ทั้งหมด
เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่ กทม. ตรวจ 1,157 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา 95.4% สายพันธุ์อัลฟาเหลือ 4.6% ส่วนภูมิภาคตรวจ 475 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา 83.2% สายพันธุ์อัลฟา 16% และสายพันธุ์เบตา 0.8%
“พูดง่ายๆ สายพันธุ์เดลตาพบมากขึ้น และคงเบียดสายพันธุ์อัลฟาเรื่อยๆ จนสุดท้ายเกือบทุกรายน่าจะเป็นสายพันธุ์เดลตา เป็นหลัก ซึ่งเมื่อดูจากกราฟการตรวจพันธุกรรมทุกสัปดาห์ สายพันธุ์เดลตาขึ้นทุกสัปดาห์ค่อนข้างเร็ว เพราะสายพันธุ์เดลตามีอำนาจกระจายเชื้อได้ง่าย จึงครอบครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้พบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ยังไม่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าใจว่าอาจจะยังตรวจไม่เจอ ไม่ได้แปลว่า ไม่มี จึงอาจสรุปได้ว่ามีสายพันธุ์เดลตาครบทุกจังหวัดของประเทศไทยแล้ว” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 4 ราย คือ ภูเก็ต 3 ราย และพัทลุง 1 ราย ภาพรวมสายพันธุ์เบตา 70% อยู่ที่นราธิวาส ที่เริ่มต้นจากการมีคนเดินทางข้ามมาจากมาเลเซียและเอาสายพันธุ์นี้เข้ามาด้วย สายพันธุ์เบตาอำนาจแพร่เชื้อไม่มาก ก็ค่อนข้างจำกัดวงที่ภาคใต้
การเจอสายพันธุ์เบตานอกพื้นที่ภาคใต้คือ จ.บึงกาฬเจอ 2 สัปดาห์ จำนวน 5 ราย ซึ่งยุติไปแล้ว ส่วน 3 รายสมุทรปราการอยู่ในสเตทควอรันทีน และกทม.เคยเจอ 1 รายแรกบวกญาติ 2 รายก็จบแล้ว ไม่พบเพิ่มเติม ฉะนั้นกรณีเบตา ไม่น่าเป็นปัญหานอกพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไปจะแพร่กระจายที่อื่นหรือไม่ เราสามารถตรวจจับได้จากระบบเฝ้าระวังของเรา
“ขอให้ช่วยกัน เพราะธรรมชาติสายพันธุ์เดลตา มีการแพร่กระจายติดเชื้อง่ายมากกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้การแพร่กระจายรวดเร็ว คนไข้เพิ่มหลัก 2 หมื่นรายต่อวัน ด้วยอำนาจแพร่เชื้อที่ง่ายทำให้ติดง่าย ดังนั้น ต้องเคร่งครัดใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง อย่ารวมกลุ่ม ให้คนไทยช่วยกัน
ไม่มีอะไรดีกว่าที่เราช่วยกันหยุดยั้ง เพราะไวรัสไปเองไม่ได้ ไปกับผู้คน การทำกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย ถ้าเราหยุดการแพร่เชื้อเร็ว ควบคุมโรคเร็ว โอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่จะน้อยลง ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เจอสายพันธุ์อื่น เช่น แลมบ์ดา โดยมีการเฝ้าระวังคนมาจากต่างประเทศ ทั้งในสเตทควอรันทีน ชายแดน คลัสเตอร์แปลกๆ หรือคนไข้หนัก” นพ.ศุภกิจกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"หมอประสิทธิ์" เร่งทุกฝ่ายสู้กับ "โควิดสายพันธุ์เดลต้า" ก่อนกลายพันธุ์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย โควิดสายพันธ์ุเดลต้าระบาดทั่ว71 จังหวัด
โควิดสายพันธุ์เดลต้า แพร่เชื้อง่ายเหมือนอีสุกอีใส ติดเชื้อ 1 คนลุกลามได้ 8
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนกรณีเห็นในโซเชียลมีเดีย มีอินฟลูเอนเซอร์หรือใครก็ตามพยายามไปตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน แล้วบอกว่าขึ้นเท่านั้นเท่านี้ คนนั้นขึ้นน้อยขึ้นมาก ซึ่งการตรวจแบบนั้น ไม่ได้บอกอะไร ไม่คุ้มที่จะไปตรวจ เพราะเป็นการขึ้นของภูมิคุ้มกันในภาพรวม ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าจัดการกับเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน และแล็บแต่ละแห่งมีค่าของตัวเลขการวัดที่แตกต่างกันไป และองค์การอนามัยโลกยังไม่กำหนดว่าระดับภูมิคุ้มกันแค่ไหนจะป้องกันโรคได้
ดังนั้น หากมีคคิดไปตรวจก็ควรถามคนตรวจว่า ใช่การตรวจ Neutralizing Antibodies ที่เป็นภูมิกำจัดเชื้อโรคหรือไม่ เป็นภาพรวมหรือจำเพาะต่อเชื้อสายพันธุ์ใด ต้องถามเพื่อให้คนตรวจอธิายว่าผลแปลว่าอย่างไร เพราะถ้าเป็นภูมิคุ้มกันทั่วไปไม่มีประโยชน์ พอขึ้นไม่มากก็ไม่สบายใจ หรือขึ้นมากก็ไม่ได้แปลว่าป้องกันโรคได้ ซึ่งมองว่ามีกระบวนการชักชวนให้ตรวจ แต่ไม่มีความจำเป็น