รู้จัก พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ที่ถูกผู้ก่อการร้ายระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ ขณะสั่งนักบินให้ลงจอดช่วยตำรวจตระเวนชายแดนโดนระเบิด จนสิ้นพระชนม์
วันที่ 2 ส.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา ได้เผยแพร่พระประวัติ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต โดยระบุว่า
เมื่อวานนี้ในที่ชุมนุมมีคนหนึ่งกล่าวว่า “...ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งชื่อตามเชื้อพระวงศ์คนหนึ่ง ก็คือ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงนี้ถูกลอบสังหารไปโดยน้ำมือประชาชน พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตนี้ ก็ได้เสียชีวิตไป โดนยิงฮอ โดนประชาชนยิงฮอตกตาย วันนี้เราทวงชื่อถนนวิภาวดีรังสิต วิภาวดีรังสิต ไม่ใช่ถนนของเจ้าอีกต่อไป นี่จะเป็นถนนของประชาชน เป็นถนนของราษฎร...”
วันนี้แอดมินเลยอยากจะมาเล่าว่า เพราะอะไรทำไมถึงตั้งถนนเส้นนี้ว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” นั่นมาจากพระนามของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” ที่เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมากมาย
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณที่ตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ ๒๕๐๐ และพระกรณียกิจที่เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ เป็นต้นมา
ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ พระองค์หญิง ได้ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และเสด็จแทนพระองค์ไปเยี่ยมเยียนประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพราะตั้งพระทัยที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทรงมีพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก แม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงอุตสาหะเสด็จไปเยี่ยมเยียนบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า
จนกระทั่งวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่า มีตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกับระเบิด ๒ คน ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บ จึงรับสั่งให้นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับตชด. ๒ คนนั้นไปส่งโรงพยาบาล แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน
ซึ่งก่อนการสิ้นพระชนม์พระองค์ยังมีพระสติสัมปชัญญะดี ทรงเป็นห่วงตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ตลอด มีรับสั่งว่า “ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม” และ “ฉันไม่เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาลด่วน” ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเล่าอีกว่า พระองค์ตรัสขอให้พระมหาวีระและครูบาธรรมชัยกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวแทน ทรง “ขอนิพพาน” และตรัสเป็นประโยคสุดท้ายว่า ทรงเห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานที่พระองค์เห็นนั้น สวยงดงาม และ “แจ่มใสเหลือเกิน”
ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว มีการรายงานข่าวอย่างละเอียดตั้งแต่การเชิญพระศพมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวกันอย่างใหญ่โต กรุงเทพโกรธเกรี้ยวต่อการสิ้นพระชนม์ เพราะรัฐบาลและทางราชสำนักถือว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูง และมีการประณามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างหนัก การสังหารเจ้านายสตรีก็เป็นสิ่งที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่คาดคิดเช่นกัน
“พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” ได้ทรงเล่าเรื่องอำเภอพระแสงและมาทำงานช่วยเหลือราษฎรในอำเภอนี้ตามพระราชดำริ ให้สมาชิกสมาคมสตรีนานาชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๒ ไว้ว่า
“...ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินชื่ออำเภอพระแสงมาแต่ก่อนเลย จนกระทั่งได้เข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานบ่ายวันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เล่าพระราชทานข้าพเจ้าถึงข้าราชการอนามัยชั้นตรีผู้หนึ่ง ซึ่งถูกส่งไปประจำสถานีอนามัยชั้น ๒ ที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุรษฎร์ธานี ซึ่งพอไปถึงก็หมดกำลังใจจะทำงาน อยากจะลาออกจากราชการให้รู้แล้วรู้รอดไป เพราะนอกจากไม่มีที่ให้อยู่อาศัย ถึงกับต้องพาบุตรภรรยาไปเช่าห้องแถวกลางตลาดแล้ว ในสถานีอนามัยยังแทบไม่มีหยูกยาหรือเครื่องใช้ที่จะบริการคนไข้ได้เลย ทั้ง ๆ ที่อนามัยแห่งนี้เป็นอนามัยแห่งเดียวที่มีอยู่ในตัวอำเภอ ขนาดตัวอำเภอยังติดต่อกับตัวจังหวัดหรืออำเภออื่นได้ยาก เพราะไม่มีถนนไปถึง ไม่มีทางรถไฟผ่าน ทางเดียวที่จะติดต่อกับภายนอกได้ก็คือทางลำแม่น้ำ ซึ่งจะไปไหนมาไหนก็ต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดจึงไม่เคยไปพระแสง ถึงกับพูดกันทีเล่นทีจริงในจังหวัดว่า ไปเวียดนามดีกว่าไปพระแสง
เมื่อความทุรกันดารของพระแสงทราบถึงพระกรรณโดยบังเอิญ รวมทั้งข้อขัดข้องของข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งเต็มไปด้วยความตั้งใจดี อยากจะทำงานตามหน้าที่ แต่หมดปัญญาสิ้นวิธี เพราะไม่ว่าจะคิดหาทางออกอย่างไรก็ตันไปหมดทุกทาง ก็ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชปรารถนาที่จะช่วยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชื่อ ดุสิต ผู้นั้น ได้ทำงานตามความตั้งใจให้ลุล่วงไปให้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.ประเสริฐศรี ชยางกูร ราชองครักษ์พิเศษ นำตัวคุณดุสิต ซึ่งบังเอิญขึ้นมากรุงเทพฯขณะนั้น มาเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ที่ศาลาผกาภิรมย์ ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินช่วยเหลือคุณดุสิตให้สามารถทำงานตามหน้าที่ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อจักรยานยนต์สำหรับใช้ ๑ คัน ซื้อเวชภัณฑ์และยาตามบัญชีที่เขียนมา และยังพระราชทานเงินสดจำนวนหนึ่งสำหรับเก็บไว้ใช้จ่ายในการเดินทางไปตามตำบลต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบำบัดโรคแก่ราษฎร เช่นค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างคนขับเรือ ค่าซ่อมยานพาหนะ ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะเบิกจากทางราชการมาใช้ให้ทันท่วงทีได้ นอกจากคุณดุสิตจะเป็นคนดีซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ยังทำงานละเอียดละออมาก ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายและรายงานผลงานที่เริ่มทำทันทีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯช่วยเหลือ ให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอมิได้ขาด เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเล่าเรื่องพระราชทานข้าพเจ้า ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนชอบท่องเที่ยวในที่แปลก ๆ และสนใจในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ก็กลายเป็นหนุมานอาสาขึ้นมาทันที...”
พวงมาลาดอกไม้สดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงวางไว้หน้าพระศพของท่านหญิงนั้น มีข้อความตอนหนึ่ง จากเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” จารึกไว้ดังนี้
“จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”
ส่วนพวงมาลาพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีคำไว้อาลัยปรากฏดังนี้
“ทิวาวารผ่านมาเยือนหล้าโลก
พร้อมความโศกสลดให้ฤทัยหาย
อริราชพิฆาตร่างท่านวางวาย
แสนเสียดายชีพกล้าวิภาวดี”
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๐ มีพระบรมราชโองการสถาปนา หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่ทรงกล้าหาญ เสียสละ และจงรักภักดี รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้เสนอให้ตั้งชื่อ “ถนนซูเปอร์ไฮเวย์” จากดินแดงไปรังสิตว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อรำลึกถึงพระองค์
นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นที่รักยิ่งของชาวอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เนื่องด้วยพระองค์เป็นผู้นำความเจริญต่าง ๆ ไปสู่พื้นที่จนได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่พระแสง” และพระองค์ยังได้ประทานชื่อตำบลบางสวรรค์ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพระแสง
---------------------------------------------
ข้อเท็จจริง
๑. การตั้งชื่อถนนตามพระนามของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” นั้น มิใช่ตั้งเพื่อความเป็นเจ้าของแต่ประการได้ หากแต่ตั้งชื่อว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อรำลึกถึงพระองค์ และเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่ทรงกล้าหาญ เสียสละ และจงรักภักดี
๒. การสิ้นพระชนม์ของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” มิใช่การลอบสังหาร ถ้าลอบสังหารนั่นหมายถึง ต้องมีการเตรียมการและวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่ครั้งนั้นแม้แต่ผู้ก่อการร้ายที่ระดมยิงเอง ก็ไม่รู้เลยว่า พระองค์เจ้าวิภาวดีฯ อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ด้วย แม่แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเอง ก็ทราบทีหลังว่าบนเฮลิคอปเตอร์นั่นมีพระองค์เจ้าเจ้าวิภาวดีฯ อยู่ ก็ตอนที่มีการแถลงการณ์การสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพแล้ว จึงไม่ใช่การลอบสังหารแบบที่คนบางกลุ่มกำลังกล่าวอ้าง
๓. เหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ครั้งนั้น ไม่ใช่ฝีมือของชาวบ้านประชาชนทั่วไป แต่เป็นผู้ก่อการร้ายที่ได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ จนเป็นเหตุให้ท้ายที่สุดพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สิ้นพระชนม์ (ผู้ก่อการร้ายที่ต่อสู้กับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.))
๔. ไม่ใช่ระดมยิง แล้วเฮลิคอปเตอร์ตกจนสิ้นพระชนม์ แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน แล้วมาสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา