ศูนย์พักคอยเกียกกาย เผยตัวเลขเด็กติดโควิด 31 ราย รักษาหายแล้ว 6 ราย ชี้ การดูแลเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ ต้องหมั่นเอาใจใส่เป็นพิเศษ ส่วนเคสเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลต่อ
ศูนย์พักคอยสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 3 - 14 ปี ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย เขตดุสิต ใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็ก เพื่อช่วยลดความเครียดของพ่อแม่ที่กังวลกลัวว่าจะไม่มีคนดูแลลูก และลดความกดดันของเด็กที่ต้องแยกกักตัวจากพ่อแม่
โดยที่ศูนย์พักคอยเด็กแห่งนี้ จะมีกิจกรรมและของเล่นตามช่วงวัย เพื่อคลายความวิตกที่ต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่ ซึ่งจะมีทีมแพทย์, เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร, พี่เลี้ยงเด็ก, ครูอาสาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด 24 ชั่งโมง และหากมีอาการที่จะต้องเข้ารักษาพยาบาล ก็สามารถส่งเข้า รพ. ได้ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.ปรับตู้นอนรถไฟเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด 240 เตียง คาดเปิด 30 ก.ค.นี้
นายกฯ โผล่ตรวจ การจัดตั้งศูนย์พักคอย รพ.สนาม สโมสรทหารบก เตรียมเปิด 30 ก.ค.
Temple Isolation กักตัวที่วัดอินทรวิหาร เพื่อการฟื้นไข้และพักคอย
สมุทรสาคร ปูพรมตั้งศูนย์พักคอยกว่า 30 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด 4,000 เตียง
ตัน ภาสกรนที นำทีมลุยสร้างศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยรอเตียงฉุกเฉิน
ทั้งนี้นายสมพงษ์ หนักบุญเกิด นักพัฒนาสังคมปฏิบัติการ กล่าวถึงความคืบหน้าของศูนย์ฯว่า นับตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 31 ราย จนถึงตอนนี้ส่งกลับบ้านแล้ว 6 ราย เป็นชาย 4 ราย หญิง 2 ราย และมีผู้ป่วยทยอยเข้ามารับการรักษาวันละ 2-3 คน โดยต้องผ่านการคัดครองจากศูนย์เอราวัณและได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยสีเขียว ส่วนกลุ่มเหลืองหรือแดง จะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลสนาม
สำหรับผู้ป่วยเด็กต้องเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้จนถึง 15 ปี ซึ่งตอนนี้อายุต่ำสุดคือ 7 ปี ทั้งนี้มีเตียงรองรับทั้งหมด 52 เตียง แบ่งเป็นเตียงเด็กชาย 26 เตียง เด็กหญิง 26 เตียง ขณะนี้ยังเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ในภาพรวมการดูแลเด็กนั้นต่างจากเคสผู้ใหญ่เนื่องจากต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเคสที่เข้าข่ายเฝ้าระวังที่จำเป็นต้องวัดสัญญาณชีพ และความดันให้สม่ำเสมอ
ส่วนกิจวัตรทั่วไปจะมีการส่งอาหารให้ผู้ป่วยเด็กทุกมื้อ ในกรณีที่ผู้ปกครองต้องการฝากของใช้ส่วนตัวของเด็ก ก็สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ โดยผู้ป่วยเด็กที่รับการรักษาจะเป็นผู้ป่วยที่หายแล้วแต่ยังตรวจพบเชื้อตายในร่างกายซึ่งแพทย์จะเป็นผู้อนุมัติให้กลับได้ ซึ่งระหว่างการรักษาตัวเด็กจะต้องกินยาตามที่แพทย์จัดไว้ให้โดยมีทั้งยาสามัญทั่วไปและยารักษาโควิดตามแพทย์สั่ง เบื้องต้นตนมองว่าศูนย์พักคอยมีความจำเป็นจนกว่าตัวเลขผู้ป่วยเด็กจะลดลงหรือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปทางที่ดีขึ้น
ส่วนกรณีที่เด็กสูญเสียผู้ปกครองที่ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นทางศูนย์ฯจะประสานฝ่ายพัฒนาชุมชน /นักสังคมสงเคราะห์ /นักจิตวิทยา และนักพัฒนาสังคม เพื่อซักถามประวัติ เพื่อประสานส่งต่อให้กับสำนักพัฒนาสังคม เพื่อขอทุนการศึกษา และการเยียวยาในเรื่องต่างๆ ส่วนการดูแลเด็กต่อจากผู้ปกครองที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะมีฝ่ายพัฒนาสังคมของแต่ละพื้นที่ในสังกัดพัฒนาสังคมของกรุงเทพมหานครดูแลในส่วนนี้อยู่ ในบางส่วนจะส่งให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการดูแลต่อ