รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความคืบหน้าการเพิ่มห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย (Extended COVID ER) รองรับผู้ป่วยวิกฤตโควิด -19 ของโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อฉุกเฉินอาการหนักกลุ่มสีแดง และสีเหลืองอีก 20 เตียง คาดแล้วเสร็จ 19 ก.ค.นี้
16 ก.ค.64 ที่โรงพยาบาลราชวิถี กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ติดตามความคืบหน้าการเพิ่มห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย (Extended COVID ER) รองรับผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19 ของโรงพยาบาลราชวิถี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สาธิต ยันขอพูดความจริง แอสตร้าเซนเนก้า ส่งวัคซีนให้ช้า ปรับแผน จัดหาเพิ่ม
ด่วน! รพ.ราชวิถี พบบุคลากรติดเชื้อโควิด งดรับผู้ป่วยใน-งดผ่าตัด 5-16 ก.ค.
แคมเปญขอคนละ 9 บาท ! มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี แจง ไม่ได้ดำเนินการ
ดร.สาธิตกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อมากเกือบ 50% ของการติดเชื้อทั้งประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางจนถึงอาการหนักเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักบางส่วนต้องรอเตียงที่ห้องฉุกเฉิน โดยในเดือนมิถุนายนมีผู้ป่วยโควิดรอเตียงที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถีเฉลี่ย 10 รายต่อวัน ขณะนี้เพิ่มเป็น 20 รายต่อวัน จึงได้เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินอีก 20 เตียง เพื่อนำผู้ป่วยอาการหนัก
(สีแดง) รวมทั้งผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) และอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ที่มีภาวะร่วมเข้าสู่ระบบการรักษาทันท่วงที เป็นห้องความดันลบ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานและผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในบริเวณห้องฉุกเฉิน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี จำกัด มหาชน ออกแบบและก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 7 วัน และมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ คาดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นี้
“ขณะนี้เราได้ระดมทรัพยากรที่มีอยู่ มาช่วยดูแลดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ทั้งบุคลากร สถานที่ โดยเฉพาะเตียงที่มีอยู่อย่างจำกัด ขยายให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วย
ติดเชื้อได้อย่างเต็มที่ ไม่ให้กระทบกับการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ” ดร.สาธิตกล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถี มีห้องสำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ 96 เตียง ในจำนวนนี้เป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 35 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงได้ปรับพื้นที่ภายในห้องประชุมเป็นห้องพักผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ (Cohort ER) 10 เตียง และปรับพื้นที่ลานจอดรถให้เป็นห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย (Extended COVID ER) 10 เตียง โดยเป็นห้องมาตรฐานสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 19
มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น อาทิ ระบบไหลเวียนอากาศ, ระบบมอนิเตอร์ ติดตามอาการผ่านกล้อง cctv เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ เป็นต้น และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานในหอผู้ป่วยไอซียู ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน