นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ชี้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เหมือนตีเช็คเปล่า แนะ ปรับเป็น พ.ร.บ.งบฯ กลางปี 2564 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้เงินได้
เมื่อช่วงสายของวันนี้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ขึ้นอภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณา พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
ชี้ พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท เหมือนตีเช็คเปล่า
โดยนายยุทธพงศ์กล่าวว่า ตนไม่สามารถรับหลักการของ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวคล้ายกับตีเช็คเปล่า เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำเงินไปใช้จ่ายโดยไม่มีรายละเอียด แม้จะมีแผนการใช้เงิน
แต่เมื่อเทียบกับการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านบาท เมื่อปี 2563 พบความล้มเหลว แม้มีเงินกู้ แต่ไม่สามารถบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้ และทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเสียชีวิต ซึ่งการเสนอขอเงินกู้ จาก พ.ร.ก. รอบที่ผ่านมา อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วน แต่กลับพบว่าการใช้ไม่มีประสิทธิภาพ
พบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบริหารเงินกู้ล้มเหลว
นายยุทธพงศ์ อภิปรายด้วยว่า ปี 2563 มี พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จัดสรรให้กับ ระบบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท และปี 2564 พบการเบิกจ่ายไปเพียง 26% หรือ 1.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
และกรณีที่ระบุว่านำเงินเพื่อเป็นเบี้ยเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า แต่กลับพบว่า มีอสม. ขอเงินนักการเมือง เช่น จ.นครพนม พบว่านายศุภชัย โพธิสุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย และรองประธานสภาฯ คนที่สอง ต้องนำเงินส่วนตัว 7 ล้านบาท เพื่อซื้อประกันภัย
ด้านเยียวยา 7 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 6 แสนล้านบาท , การฟื้นฟูเศรษฐกิจแลสังคม วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท แต่พบการเบิกจ่ายเพียง 28%
ดังนั้นเมื่อรวมยอดการเบิกจ่ายจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท พบว่าเบิกจ่าย รวม 7.7 แสนล้านบาท มียอดเบิกจ่ายเหลือ 2.3 ล้านบาท
แนะ เปลี่ยน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เป็น พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2564 เพื่อให้ตรวจสอบได้
นายยุทธพงศ์กล่าวว่า “ผมขอให้รัฐบาล เปลี่ยนจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ไปเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปี 2564 วงเงิน 5 แสนนล้านบาทแทน เพื่อให้สภาฯตรวจสอบและเกิดความคุ้มค่ากับการกู้เงินที่ต้องเสียดอกเบี้ย
“เพราะตนมองว่า พ.ร.ก. ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และการติดเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 ไม่มีทางยุติลงภายในปีนี้ และผมเชื่อด้วยว่ารัฐบาลจะใช้เงินกู้ไม่ทันปีงบประมาณแน่นอน”