ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ เผยข้อความ “พระวชิรญาณโกศล” วัดป่าธรรมคีรี อ.ปากช่อง หลังเข้าเฝ้าในหลวง ทรงมีพระวิริยะในการเจริญพระกัมมัฏฐานทุกวัน และรับสั่งว่า “ผมไม่อยากเป็นพระเอก ผมชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยช่วยเขาอย่างเงียบๆ ดีกว่า”
วันนี้ (11 พ.ค. 64) ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีกว่าที่พวกสัมภเวสี หรือสมศักดิ์ เจียม ที่บอกให้สำนักพระราชวัง หรือรัฐบาลแถลงการณ์ เรื่องพระอาการประชวรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ที่พวกมันมโนแต่งขึ้นกันเอง
ขอให้ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆของผม สบายใจกันได้ครับ พระ (ขอเอ่ยนาม พระวชิรญาณโกศล) ท่านไม่โกหก ไม่มุสาตอแหล ท่านมีเมตตาเอาเรื่องดีๆ มาให้เพื่อนๆได้อ่านเพื่อคลายความกังวล และความวิตกจริตกัน ขอให้สบายใจกันได้ครับ เราต้องช่วยกันปกป้อง คนดี ที่เราเคารพรัก มีแต่ สมศักดิ์ เจียม และสาวก และพรรคพวกที่ เกลียดชัง อิจฉาตาร้อนต่อสถาบันฯ ที่หลบหนีคดี กฏหมายบ้านเมือง ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ แล้วไปสร้างนวนิยายประโลมโลก เพื่อโกหก มดเท็จ ให้ร้ายป้ายสี สร้างเรื่องเท็จตามมโนที่ตัวเองคิด เป็นปรปักษ์ ต่อ พระมหากษัตริย์ และพระราชินี เป็นที่สนุกสนาน ให้กับพวกสาวกโง่ๆ สิ้นคิด ให้หลงเชื่อ
พวกสัมภเวสีเหล่านี้ เลิกทำนิสัยชั่วๆได้แล้วครับ จะได้ตายอย่างสงบสุข ณ ต่างแดน ที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง
ม.จ. จุลเจิม ยุคล
“ในหลวงทรงมีพระพลานามัยเเข็งแรง ทรงสวดมนต์และเจริญพระกัมมัฏฐานเป็นประจำ อาตมาเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านทุกวันพระ ทุกอย่างปกติดี”
พระวชิรญาณโกศล (คม อภิวโร)
วัดป่าธรรมคีรี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
……………………………………………
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔
พระวชิรญาณโกศล (คม อภิวโร) เดินทางกลับจากพระบรมมหาราชวัง เมตตาเล่าให้คณะศิษย์ฟังว่า
“เมื่อวันพุธที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จำนวน ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ประจำวันพระ ในหลวงทรงนำข้าราชบริพารสวดมนต์ ทรงถวายสังฆทาน หลังจากทรงส่งพระสงฆ์กลับวัดเรียบร้อยแล้ว ทรงอาราธนาอาตมาภาพเจริญกัมมัฏฐานเป็นการส่วนพระองค์
อาตมาภาพถวายธรรมบรรยายเรื่อง “การฝึกจิตให้เกิดจิตตานุภาพและวิธีพิจารณารูปนามลงสู่ไตรลักษณ์” ทรงสนพระราชหฤทัยในการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง ทรงเจริญกัมมัฏฐานเป็นเวลานาน ทั้งยังทรงมีพระราชปุจฉาถึงเรื่องประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาต่างๆ อาทิ ความยากลำบากในการประดิษฐานพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในประเทศไทย พระวินัยปิฎก ข้อสิกขาบทอันเนื่องด้วยการตัดเย็บย้อมผ้าจีวร สบง สังฆาฏิ บาตร ขาบาตร สลกบาตร ผ้าคลุมบาตร การฉันภัตตาหาร ฯลฯ
ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้อาตมาภาพเข้าเฝ้าฯ ที่วังอัมพร เพื่อถวายงานสนองพระเดชพระคุณในวาระต่างๆ อาตมาภาพเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ทรงอาราธนาให้พำนักในพระบรมมหาราชวัง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติบูชาถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายงานส่วนพระองค์ต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๒ วัน ต่อมาทรงพระกรุณาให้ถวายงานทุกวันพระ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาตมาภาพถวายวิสัชนาเรื่องพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ กอง ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ เมื่อพระจิตมีกำลังสมาธิดีแล้วให้ทรงออกก้าวเดินทางด้านปัญญา ถวายกุศโลบายวิธีภาวนาพิจารณาขันธ์ห้า สติปัฏฐานสี่ ความรู้เท่าทันกาย ความรู้เท่าทันผัสสะ ความรู้เท่าทันสมุทัย ความรู้เท่าทันจิต
ในเรื่องพื้นฐานทั้งปวงจนถึงเรื่องที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิในอริยมรรค ปฏิจจสมุปบาท และอวิชชา ก็ล้วนแต่ได้เคยถวายวิสัชนามาทั้งสิ้น
ทรงมีพระวิริยะในการเจริญพระกัมมัฏฐานทุกวัน รับสั่งว่า
“ทั้งสมถะและวิปัสสนานี้เป็นของดีมาก ช่วยผมได้มาก ผมนั่งสมาธิทุกวัน ท่านแสดงธรรมผมก็น้อมใจพิจารณาธรรม เหมือนท่านส่องแสงสว่างให้ผมก็เดินตามไป ผมไม่เผลอเลย จะรู้อยู่ในวงกายวงจิตตลอด อย่างนั่งอยู่ตรงนี้ สติก็ชัดเจนตรงนี้ จะไม่ส่งออกไปนอกจากนี้ จิตพิจารณาธรรมตามที่ท่านสอน ผมนั่งทุกวันจนรู้สึกว่าถ้าวันไหนไม่ได้นั่งเหมือนว่ามันขาดอะไรไป”
ทรงเคยอาราธนาอาตมาภาพให้อยู่นำข้าราชบริพาธสวดมนต์วันพระกับพระองค์ท่าน ทรงสวดมนต์จำนวน ๓๘ บทเต็ม ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ ๑ ชั่วโมง ๔๕ นาที หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้ว ทรงอาราธนาให้อาตมาภาพนำปฏิบัติกัมมัฏฐานต่ออีกด้วย
ทรงนั่งภาวนาคราวละ ๑ ชั่วโมง บางครั้งถึง ๒ ชั่วโมง เป็นเรื่องปกติ
หากทรงมีพระราชกรณียกิจ มีหมายไปข้างนอก จะได้ยินรับสั่งในวันรุ่งขึ้นว่า
“เมื่อวานผมมีกิจครับเลยไม่ได้นั่ง วันนี้ขอนั่งนานหน่อยนะครับ ต้องชดเชยของเมื่อวานด้วย”
อาตมาภาพถวายพระพรว่า
“วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือต้องทำให้ธรรมะเบิกบานในใจ เมื่อก่อนเป็นสงครามกู้ชาติกู้แผ่นดินแบบเสียเลือดเสียเนื้อ ตอนนี้เป็นสงครามระหว่างกิเลสกับธรรม กู้ธรรมะกลับคืนมาได้ทุกอย่างก็ร่มเย็นเป็นสุข ทางรอดมีทางเดียวคือการเดินไปตามทางธรรม”
หลังจากทรงเจริญกัมมัฏฐานแล้ว พระวชิรญาณโกศลทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่าเรื่องในหลวงทรงปฏิบัติธรรมทุกวันให้คณะศิษย์และพี่น้องทั้งหลายได้ทราบ
ในหลวงรับสั่งว่า
“ก็สุดแต่ท่านอาจารย์ครับ แต่สำหรับผมไม่เป็นไร ผมไม่อยากเป็นพระเอก ผมชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยช่วยเขาอย่างเงียบๆ ดีกว่า”
อาตมาภาพจึงทูลว่า
“ทรงทำความดีเพื่อสละอัตตาตัวตน เป็นยอดของกุศล เป็นความดีที่สะอาด เพราะไม่ติดดี สิ่งที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดจะต้องเป็นผลสำเร็จ ขอให้ทรงอดทนและทรงวิริยะอย่างต่อเนื่อง ผลของความดีจะประกาศคุณค่าในตัวของมันเองแน่นอน”
ทรงศึกษาภาษาบาลีเพื่อเป็นกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก ทรงพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีพร้อมทั้งคำแปล พระราชทานเป็นคติธรรมนำปฏิบัติแก่ข้าราชบริพาร และคติธรรมกำกับเจลแอลกอฮอล์พระราชทาน ถวายการสอนโดย ดร.พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙) วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
ทรงศึกษาอักษรอริยกะ (ภาษาโบราณที่เคยรุ่งเรืองในสมัย รัชกาลที่ ๔) พระสุตตันตปิฎก และจิตตนคร ถวายการสอนโดย ดร.พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) วัดบวรนิเวศวิหาร
อีกทั้งทรงศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์รูปสำคัญของประเทศ สลับกันเข้ามาถวายงานทุกวัน
นอกจากเรื่องทรงมีพระราชศรัทธามั่นในพระรัตนตรัยดังกล่าวมาแล้ว อาตมาภาพยังได้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในศาสตร์ต่างๆ ทรงเชิญท่านผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งดิน น้ำ เขื่อน การเกษตร การชลประทาน มาถวายงานและให้ความรู้ข้าราชบริพาร เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานช่วยเหลือราษฎรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ทรงติดตามข่าวสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือให้ทันท่วงที โดยเฉพาะวิกฤต COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญชะตากรรมร่วมกันในขณะนี้
อาตมาภาพได้พบพระราชาผู้ดูแลทุกอย่าง มีปัญหาเข้ามาให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา คอยทำงานอยู่เบื้องหลังด้วยความรักและห่วงใยพสกนิกรของพระองค์
ทรงมีพระราชดำริเชิงปรัชญา เรื่องเส้นทางการฟื้นฟูและปฏิรูป “บัวใต้โคลนก้นบึง” ให้สามารถผลิดอกออกใบชูช่อใหม่ ตื่นรู้ เบิกบาน
ทำให้บรรยากาศของวังอัมพรในปัจจุบัน เป็นทั้งบ้าน มหาวิทยาลัย ศาลากลาง โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ แปลงทดลอง สนามกีฬา ค่ายฝึกอบรม และวัด
ในบางทัศนะเรารักใครชอบใครไม่จำเป็นต้องประกาศให้โลกรู้ แต่สำหรับอาตมามีความเห็นว่า เราต้องช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อปกป้องคนที่เรารัก ยิ่งหากความรักนั้นเป็นความรักชาติรักแผ่นดินด้วยแล้ว เราคงไม่ยอมปล่อยให้ใครมาทำลายเป็นแน่”
……………………………………………
ภาพพระวชิรญาณโกศล พร้อมพัดยศ ถ่ายที่พระบรมมหาราชวัง คืนวันที่ 19 พ.ค.2564