กระทรวงการคลัง ชี้แจงเหตุผลที่ไม่เยียวยากลุ่มร้านอาหาร เนื่องจากมีมาตรการดูแลทั้งให้สินเชื่อและพักชำระหนี้อยู่แล้ว ส่วนมาตรการเยียวยาอื่นๆ พิจารณาตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์จำเป็นเร่งด่วน
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และข้อเรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2564
จากกรณีที่มีข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยควรนำเม็ดเงินเหล่านี้มาเยียวยาในกลุ่มที่เดือดร้อนจริง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม และข้อเรียกร้องให้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลต่อร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทั้ง 3 ระลอกนั้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และเตรียมความพร้อมของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร ในระยะเร่งด่วนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังกล่าว รวมทั้งมาตรการสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศได้
ภายใต้ข้อจำกัดจากสถานการณ์ตามกล่าวข้างต้น คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จึงได้พิจารณาใช้มาตรการเยียวยาที่ดำเนินการอยู่แล้วและยังไม่สิ้นสุดโครงการ ได้แก่ โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน โดยเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน โดยปัจจุบันทั้งสองโครงการมีผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับสิทธิ์รวมกันประมาณ 41 ล้านคน ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ทั้งนี้ การเพิ่มวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งสองโครงการจะทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วกว่าการให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของทั้งสองโครงการที่ภาครัฐมีอยู่ในปัจจุบันได้ทันที
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงจะต้องทำการสำรวจข้อมูลใหม่ รวมทั้งตรวจสอบและคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ จึงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่า และกระบวนการดังกล่าวอาจทำให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ การเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวยังจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจฐานรากจากร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร จึงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อยในท้องที่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการคนละครึ่งระยะ 3 เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
ในส่วนของมาตรการด้านการเงิน คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการ ได้แก่
(1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
(2) มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจของลูกหนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
(1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม โดยผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีสินเชื่อและไม่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปีตลอดระยะเวลามาตรการ โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือน และมีการประกันสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ
(2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นขอโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยมีสิทธิเช่าทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป และมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันโอนหรือระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ในส่วนของมาตรการด้านภาษี รัฐบาลได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ทำบัญชีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่มีความรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศและสนับสนุนการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงจาก COVID-19 อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด