svasdssvasds

ย้ายประเทศกันเถอะ! เทรนด์อยู่ไม่ไหวก็ต้องไป สะท้อนรัฐบาลที่ล้มเหลว ?

ย้ายประเทศกันเถอะ! เทรนด์อยู่ไม่ไหวก็ต้องไป สะท้อนรัฐบาลที่ล้มเหลว ?

เพราะความไม่มั่นคงในชีวิต และการไขว่คว้าหาชีวิตดีๆที่ลงตัว ทำให้กลุ่ม "ย้ายประเทศกันเถอะ" เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนเสียงแห่งความจริงว่า "อยู่ไม่ไหวก็ต้องไป" ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และทุกคนต่างต้องการโอกาสดีๆในชีวิต

•เป้าหมายของกลุ่ม

กลุ่ม ย้ายประเทศกันเถอะ - กลุ่มที่มีสมาชิก 648,342 คน (ณ เวลา 11.00 น วันที่ 4 พฤษภาคม 2021) นับเป็นตัวเลขที่มีสมาชิกสูงมาก หากรับเวลาการก่อตั้งเพียงแค่ 4 วัน ซึ่งความจริงแล้ว กลุ่มนี้ แรกเริ่มเดิมที มีจุดประสงค์เพียงแค่ เปิดพื้นที่ให้คนมาแชร์ข้อมูล 4 ประเภทหลักผ่านแฮชแท็ก #รีวิวประเทศ, #แนะนำสายงาน #การเตรียมตัวและวีซ่า และ #วิธีฝึกภาษา โดยเมื่อวานนี้  (3 พ.ค.) วันเดียว มีสมาชิกเข้าไปโพสต์เกือบ 5,000 โพสต์แล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือเทรนด์กระแสที่กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง

ปรากฏการณ์แบบนี้ในโลกออนไลน์ คล้ายๆ กับ เป็นเสียงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนสิ้นหวังกับระบบการบริหารประเทศที่กำลังมีปัญหาอย่างมาก ไม่ใช่แค่ว่า เรื่องบริหารจัดการวัคซีนที่ล้มเหลว ล้าช้า และอาจจะเป็น ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผู้คน รู้สึกว่าสู้ต่อไปก็ไม่รู้ว่าในชีวิตจะได้ในสิ่งทีต้องการหรือไม่... หากสู้ไปตายเอาดาบหน้าหรือว่าหาโอกาสที่มันดีกว่านี้ดีกว่าในต่างประเทศ  นอกจากนี้ ในกลุ่มยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม มากมาย อาทิ  วิศวกร แพทย์ เภสัชกร อาจารย์ หรืองานบริการต่างๆ

•อยู่ไม่ไหวก็ต้องไป

ทั้งนี้ การย้ายถิ่นฐานของผู้คนทั่วโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก 2021 และเรื่องนี้ยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงแต่อย่างใด
    โดยสำนักงานกลยุทธ์และระบบนโยบายของสหภาพยุโรป ระบุว่าตัวเลขการย้ายถิ่นฐานของพลเมืองโลก เพิ่มขึ้นจาก 173 ล้านคน ในปี 2000 เป็น 258 ล้านคน ในปี 2016 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของจำนวนพลเมืองทั่วโลกด้วยซ้ำ  โดย กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วยังคงเป็นประเทศเนื้อหอมสำหรับผู้อพยพ  ตั้งแต่ปี 2000-2016 ประเทศกลุ่มนี้อ้าแขนรับผู้อพยพไปแล้วถึง 64% ของผู้อพยพทั้งหมด หรือราว 165 ล้านคน

ขณะที่ผู้อพยพอีก 81 ล้านคน ออกจากประเทศตนเองเพื่อไปพึ่งพิงประเทศรายได้ปานกลาง ส่วนผู้อพยพอีก 11 ล้านคน เดินทางไปยังประเทศรายได้ต่ำ

Movecountry

•เพราะที่นี่ไม่มีความมั่นคง

ทั้งนี้ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า ว่าในจำนวนสมาชิกกว่า 5 แสนคน มีเกินกว่า 80% แน่ ๆ ที่ออกมาชุมนุมหรือสนับสนุนการชุมนุมของคณะราษฎรในช่วงปี 2020

โดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ หนึ่ง ความไม่มั่นคงของชีวิตอย่างเรื่องการเมืองและอนาคตที่ประชาชนไม่สามารถเลือกเองได้ และสอง ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และการรับมือกับโควิด19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการเรื่องวัคซีน และสะท้อนมากับตัวเลขผู้ติดเชื้อ จำนวนเตียง ตัวเลขการฉีดวัคซีนที่ต่ำมากในปัจจุบัน

•สวีเดนชวนย้าย-แคนาดาต้องการแรงงานต่างชาติ

ล่าสุด เพจ Facbook สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำกรุงเทพฯ ร่วมเกาะกระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ” ด้วยการโพสต์ข้อมูลจูงใจให้คนไทยย้ายไปอยู่สวีเดนว่า ท่านกำลังฝันจะย้ายประเทศอยู่หรือเปล่า เราขอนำเสนอเหตุผลว่าเหตุใดประเทศสวีเดน อาจเป็นจุดหมายปลายทางที่ดี ดังนี้ สิทธิ์และการคุ้มครองแรงงานที่เข้มแข็ง  , ความเท่าเทียมกัน , การให้คุณค่ากับนวัตกรรม , มีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกคน

 

ขณะที่ ปลายปีที่แล้ว "มาร์โค เมนดิซิโน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย และสิทธิพลเมืองแห่งแคนาดา เคยชูนโยบาย  'แรงงานต่างชาติ' คือขุมกำลังเศรษฐกิจประเทศ เร่งดึงดูดแรงงานกลุ่มสาธารณสุขและนักศึกษาจบใหม่ างแผนเปิดรับผู้อพยพชาวต่างชาติระหว่างปี 2021-2023 ด้วยตัวเลขรวมถึง 1.2 ล้านคน

lockdoor

• บทเรียนจากฮ่องกง

โดยเมื่อปี 2019 นับตั้งแต่เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงก็มีชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยที่พากันย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านเกิด โดย Youth I.D.E.A.S. ศูนย์วิจัยเพื่อขับเคลื่อนการสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายในฮ่องกงเผยว่า "ฮ่องกงอาจเข้าสู่ภาวะสมองไหลภายใน 5 ปี"
    หลังผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเกือบ 1 ใน 4 ของแรงงานฮ่องกงอายุต่ำกว่า 35 ปีอยากย้ายไปทำงานต่างประเทศ โดยกว่า 15% ระบุว่าไม่มีแผนที่จะกลับฮ่องกงหากได้งานทำที่ต่างประเทศ โดยพวกเขามี 3 เหตุผลหลักคือต้องการชีวิตการทำงานที่สมดุลมากขึ้น ต่างประเทศมีแผนเปิดรับคนฮ่องกง รวมถึงต้องการเสถียรภาพทางสังคมและการเมือง
    นอกจากนี้ยังมีชาวฮ่องกงอีกจำนวนมากที่อพยพไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย และไต้หวันที่เปิดรับผู้อพยพชาวฮ่องกงหลังจากที่จีนออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งแอมเนสตี้มองว่าเป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์

•เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
    แม้ หลายคนวาดฝันไว้ว่าการย้ายไปอาศัยในต่างแดนอาจได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอิสระมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเส้นทางที่สวยงามกับการย้ายถิ่นฐาน
    กระแสการย้ายถิ่นฐานของชาวฮ่องกงในอดีต มีบทเรียนที่น่าสนใจดังนี้ ทำให้เกิดบริษัทรับจ้างพาไปต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงนับล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีมิจฉาชีพใช้ลู่ทางนี้หลอกลวงประชาชน
    บางครอบครัวจ่ายเงินไปเป็นจำนวนหลายแสนเหรียญฮ่องกงให้บริษัทเพื่อทำเรื่องอพยพไปยังต่างประเทศโดยใช้เวลานานนับปีก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งยังหายไปพร้อมเงิน

 

related