svasdssvasds

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แสงที่ส่องสว่างในชุมชนคลองเตยมากว่า 50 ปี

Klongtoey The Series : Episode 1 : ความเหลื่อมล้ำ : ครูประทีป เกิดและเติบโตในชุมชนคลองเตย โดยเธอได้รับแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อปี 2521 เป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อปี 2543 ที่สำคัญเธอเป็นบุคคลแรกๆ ที่ทำให้คนทั้งประเทศเห็นคลองเตย และยังคงเป็นแสงส่องสว่างในชุมชนแห่งนี้... มาอย่างยาวนาน

หากให้ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้ ชุมชนคลองเตย ที่อยู่ใจกลางมหานคร ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน

แต่ถ้าพูดถึงบุคคลแรกๆ ที่ทำให้คนทั้งประเทศเห็นคลองเตย ชื่อของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ก็จะผุดขึ้นมาในทันที เป็นชีวิต ที่เปรียบดั่งดวงประทีปที่ส่องสว่าง  ที่ทำงานเพื่อชุมชนที่เธอเกิด มากว่า 50 ปี

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

โดยครูประทีปเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการต่อสู้เพื่อชุมชนคลองเตย มีที่มาจากคำถามที่ว่า ทำไมคนจน จึงถูกกระทำ ราวกับผักปลา

“มีวันหนึ่ง ที่เราไปทำงาน เคาะสนิมเรือในท่าเรือ ก็ต้องใช้นั่งร้านขึ้นไปเคาะ เพราะว่าเพดานเรือมันสูง แล้วอยู่มาวันหนึ่ง นั่งร้านมันล้มลงมา เพื่อนที่เคาะสนิมเรือก็ร่วงลงมา หัวไปกระแทกกับคานเรือ เลือดกระจาย เขาก็ไม่ได้สวัสดิการอะไรเท่าที่ควร แล้วเขาก็ต้องพิการไปตลอดชีวิต

“เราก็เลยคิดว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตคนจนมีค่า ทำไมชีวิตคนจนมันเหมือนกับผักปลา ไม่มีคุณค่าอะไรเลย เราจึงคิดว่า ถ้ามีการศึกษา เขาก็จะเขียนเรื่องราวเรียกร้อง เพระตอนนั้นไม่มีการเรียกร้อง ไม่มีสิทธิอะไรเลย ก็คิดว่าการศึกษาเนี่ยแหละ มันจะช่วยทำให้ชีวิตของคนจน มันกล้าพูด กล้าเขียน กล้าบอกอะไรต่างๆ ได้

เปิดโรงเรียนวันละบาท สถาบันการศึกษาผิดกฎหมาย เพื่อเด็กๆ ในชุมชน

“ก็เปิดโรงเรียนผิดกฎหมายขึ้นมา สมัยก่อนเนี่ยจะตั้งโรงเรียน ถ้าเกิน 7 คน สอนหนังสือเกิน 7 คนจะต้องขออนุญาต ขออนุญาตจากกระทรวง แต่เราจะทำได้อย่างไร เพราะว่าที่ดินก็อยู่ในที่ของการท่าเรือ เราก็ยังไม่จบครู คือไปเรียนภาคค่ำ แล้วก็เพิ่งไปสอบภาคค่ำ สวนดุสิต กลางวันสอนเด็ก เราก็สอนไปเรื่อยๆ ก็มีปัญหาเรื่องการไล่รื้อ เขาก็มาใช้ที่โรงเรียน เพราะมันเป็นพื้นที่เดียวที่จะมานั่งคุยกันได้

“พอมีข่าว มีนักข่าวเข้ามา ก็รู้ว่า คนยากคนจนโดนไล่รื้อ จะทำอย่างไรกัน สมัยก่อนนักข่าวก็สนใจปัญหาของคนยากคนจนเยอะ ก็มาเขียนข่าว มาเล่าเรื่อง คนก็เลยรู้ อ๋อ เนี่ยมันมีสลัมในกรุงเทพด้วยนะ แล้วก็มีโรงเรียนวันละบาท โรงเรียนผิดกฎหมาย ก็เป็นข่าวออกไป ทำให้สังคมรับรู้ในระดับหนึ่ง

“แต่ว่ารับรู้ในระดับหนึ่ง ก็ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่ทางราชการจะยอมรับว่า เด็กยากจนเนี่ย ไม่ว่าจะมีหลักฐาน ไม่มีหลักฐาน เขาควรได้รับสิทธิเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ ต้องใช้เวลายาวนานมากนะ กว่าความคิดเหล่านี้จะตกผลึกว่า ราชการก็ต้องเข้าใจว่าเด็กที่เดินมา ถึงเขาจะไม่มีหลักฐานอะไร ก็ต้องรับ เพื่อที่จะให้การศึกษากับเขา”

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

สิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำ ยิ่งเรื้อรัง และรุนแรง ก็คือวิธีคิดของภาครัฐ ที่มองผู้ด้อยโอกาสว่า เป็นตัวสร้างปัญหา ?

“ใช่เลยค่ะ วิธีคิดของเขา หรือมุมมองของเขา มองไปอีกลักษณะหนึ่ง มองว่า คนที่มาอยู่ในสลัมเป็นพวกผิดกฎหมาย มาบุกรุก แล้วพอมีข่าวเรื่องยาเสพติด ก็เลยเหวี่ยงแหไปหมดเลย คลุมไปหมดเลยว่า คนที่อยู่ในสลัม เป็นพวกคนไม่ดี

“โดยที่ขาดมุมมองในอีกลักษณะหนึ่งว่า แล้วใครต้องรับผิดชอบ ที่จะทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องมาบุกรุก ต้องมาอยู่ในสถานที่ที่เหมือนกับว่า มันก็ไม่ดีน่ะ ทำไมคุณไม่ดูในเรื่องของโครงสร้าง ระบบอะไรทำให้ช่องว่าง หรือความเหลื่อมล้ำ มันถ่างกว้างมาก

“ตอนนี้ประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ของโลกเลยน่ะ เราแซงรัสเซีย เราแซงอินเดียแล้วนะ ว่าเราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ต้องไปถามกับผู้บริหารซิ ก็มองว่าไอ้พวกนี้มันขี้เกียจ โธ่ คนยากคนจน เขาทำงานหนักแทบตาย

แต่ค่าตอบแทนเขาได้นิดเดียว แล้วจะให้เขาไปสู้เนี่ย มันแพ้ตั้งแต่ในท้องแล้ว เกิดมามันก็แพ้แล้วน่ะ”

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ครูประทีปพยายามแก้ปัญหา ชุมชนคลองเตยในทุกมิติ และเมื่อเธอต่อสู้กับปัญหายาเสพติด ก็ทำให้ชีวิตต้องอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยง

“ปี 2536 - 2538 ช่วงนั้นยาเสพติดเยอะมากเลย ไม่ทราบเป็นอะไร เด็กเดินมา 10 คน 7 คนใช้ยาเสพติด แล้วศูนย์ของเราที่ดูแล ตั้งมาตั้งแต่ปี 2528 ตอนนั้นทั้งเฮโรอีน ทั้งกาว แล้วตอนหลังมาเป็นยาบ้า เป็นภัยคุกคามสังคมมาก คนยากคนจนตกเป็นเหยื่อ เด็กเยาวชนเป็นเหยื่อ

“ประกอบกับสภาวะสังคมที่เหมือนกับไม่มีความหวัง การใช้ยา มันก็เลยทำให้เราสูญเสียเยาวชนไป ต้องไปติดยาเสพติด เป็นจำนวนมาก เราก็คิดว่าต้องทำอย่างไร พยายามรณรงค์จัดกิจกรรม ทำเขตปลอดยาเสพติดต่างๆ ชาวบ้านมาช่วยกันเยอะแยะมากมาย

“แล้วก็มีกรณีที่เราให้เยาวชนมาจัดเวทีเสวนา แล้วเยาวชนก็อยากจะไปยื่นหนังสือกับอธิบดีกรมตำรวจ กับนายกรัฐมนตรี ให้มาช่วยแก้ปัญหายาเสพติด

“ครูประทีปเกือบตาย เกือบตาย เพราะว่าเขาไม่ต้องการให้เด็กเยาวชนเดินขบวนกันไป มีคนบุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะมาทำร้ายเรา

“คือเราทำดี แต่ว่าในส่วนของคนที่เขาต้องการหาผลประโยชน์ เขาไม่ได้มองว่าเราทำดี เขามองว่าเราคือตัวอันตราย ตัวที่ขัดผลประโยชน์เขา ตัวที่ทำให้ธุรกิจมืดของเขาเนี่ย มีปัญหา”

ในวันนี้ ในวัย 68 ปี ครูประทีปก็ยังคงทำงานอย่างหนัก เพื่อพัฒนาชุมชนคลองเตย ชุมชนที่เธอรัก และผูกพัน เพราะความสุขของเธอ อยู่ ณ สถานที่แห่งนี้

“ตอนนี้ ชีวิตเราเนี่ยเหมือนกับชีวิตใกล้อัสดงแล้วนะ เดินทางมาใกล้ๆ กับเรียกว่าสูงวัย วัยชรา เราน่ะอย่าไปหวังอะไรมาก เพราะว่าเรามองหาความสุข ทุกวันมองเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นบวกหมด

“มองเห็นเด็กๆ ที่เขามีที่เรียน ได้เล่นของเล่น เราก็มีความสุข เห็นเด็กที่เขาได้มีอนาคต มีโอกาสไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น จากเด็กที่พ่อแม่เขาทอดทิ้ง แล้วเขามีความมุ่งมั่นเข้าเรียนต่อในระดับที่อุดมศึกษาได้ เราก็ดีใจนะ

“เวลาพอมองนั้นปั๊บเนี่ย เรามองอดีต เราเข้ามาถึงตรงนี้ แล้วเราก็มองไปถึงอนาคต ก็รู้สึกมาถึงทางแล้วนะ อะไรอย่างนี้ เราก็มีความสุข มีความสุขได้กับทุกเรื่องนะตอนนี้” 

และทั้งหมดนี้ ก็เรื่องราวของการต่อสู้อย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน เพื่อแก้ปัญหาในระดับรากเหง้าที่ต้องอาศัยระยะเวลา ด้วยความมุ่งหวังว่า คุณภาพชีวิตของชาวชุมชน จะได้รับการพัฒนา... อย่างยั่งยืน

related