ข้าว คือ พืชเศรษฐกิจส่งออกเบอร์ต้น ๆ ของไทย และไทยเคยขึ้นเบอร์ 1 ของการส่งออกข้าวทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ วันนี้ถูกคู่แข่งหลายประเทศแซงไปแล้ว วันนี้จะพามาดูเรื่องราวข้าวไทย เจอวิกฤตอะไรบ้าง
ข้าว คือ พืชเศรษฐกิจ หนึ่งในความหวังของการส่งออกไทยในลำดับต้น ๆ ก็ว่าได้เพราะปีหนึ่ง ๆ ไทยส่งออกข้าวเบอร์ต้น ๆ ของโลก และมีบางช่วงขึ้นเบอร์หนึ่งของโลกด้วยทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ แต่พักหลัง ๆมานี้ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศคู่แข่งตามมาติด ๆ จนกระทั่งตอนนี้เราถูกแซงทางโค้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งเรื่องราคา และต้นทุนการผลิตที่บ้านเรายังสู้เขาไม่ได้ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆที่คู่แข่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ล่าสุดมีข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวในเดือนมกราคม 2564 ว่าปริมาณการส่งออก 421,477 ตัน มูลค่า 7,826 ล้านบาท โดยแง่ปริมาณลดลง 23.2% แง่มูลค่าลดลง 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เมื่อเทียบจากเดือนธันวาคม 63 ทำให้ทั้งปี 2563 ไทยส่งออกข้าว 5.72 ล้านตัน ลดลง 24.5% และมูลค่า 115,915 ล้านบาท ลดลง 11.2% เมื่อเทียบปี 62 ซึ่งส่งผลให้ไทยหล่นลงไปอยู่ในอันดับ 4 ของประเทศส่งออกข้าวของโลก รองจาก อินเดีย เวียดนาม และปากีสถาน
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ไทยส่งออกได้ลดลง เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวไทยประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และ ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด ประกอบกับราคาข้าวไทย สูงกว่าคู่แข่งมาก ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากแหล่งที่มีราคาถูกกว่า ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาว มีปริมาณ 145,085 ตัน ลดลง 6.9% เทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังแคเมอรูน ญี่ปุ่น คองโก จีน โมซัมบิก ฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตามในขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 118,174 ตัน เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปตลาดหลักในแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เบนิน แคเมอรูน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ มีปริมาณ 97,971 ตัน ลดลง 32.8% เทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง จีน แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น
ส่วนเดือน ก.พ. 2564 คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ 400,000-500,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาค้างส่งมอบให้กับผู้ซื้อในแถบแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา ทั้งในส่วนของข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ๆยังมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากราคาข้าวขาวและข้าวนึ่งของไทยยังคงสูงกว่าคู่แข่งมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบเรื่องค่าเงินบาทก็ยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า