ปีนี้หลายคนบอกว่าการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจอาจยากว่าปี 2563 ด้วยซ้ำ แต่ชีวิตก็ต้องสู้และเดินต่อไป โดยล่าสุดศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ออกมาประเมินว่าหากโควิดระลอกใหม่ลากยาวทั้งไตรมาสที่ 1 อาจทำธุรกิจสูญ 6แสนล้านบาท แต่ก็มีคำถามจากสังคมว่าหากลากยาวกว่านั้นล่ะ ชีวิต ธุรกิจ ปากท้องผู้คนจะอยู่กันยังไง
จะว่าไปแล้วโควิด- 19 ทำเอาคนไทยกลัวไม่น้อยหลายคนทำงานอยู่ที่บ้านหลายคนจะออกไปไหนมาไหนก็ยังคงหวาดระแวง แต่หลายคนก็บอกว่ากลัวอดมากกว่าโควิดเพราะโควิด- 19ได้พ่นพิษใส่เศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงมากทำเอาคนทำมาค้าขายไม่ได้ ร้านค้า กิจการท่องเที่ยว โรงแรม ปิดตัวกันระนาว หลายคนตกงาน บ้างคนหาเช้ากินค่ำต้องอดมื้อกินมื้อ
โดยแผลเก่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ว่าโซซัดโซเซแล้ว แต่ ...มาดูปี 2564 เสียก่อนแค่เริ่มต้นปีมายังขนาดนี้ แล้วถ้าคุมสถานการณ์โควิด –19ไม่อยู่ลากยาวๆไปเศรษฐกิจบ้านเราจะไปถึงจุดไหน บอกได้คำเดียวว่าไม่อยากจะคิดสภาพเลยว่าชีวิตผู้คนที่หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจะเป็นเช่นไร ภาคธุรกิจจะกัดก้อนเกลือกินขนาดไหน ไม่อยากเห็นภาพนั้นเลยจริง ๆ
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาคาดการณ์ว่าโควิดระลอกใหม่จะฉุดจีดีพีปี 2564 หดเหลือ 2.2% จากเดิมคาดโต 2.8% พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยเป็น 3 กรณี กรณีแย่ที่สุดโควิดลากยาวใช้เวลาคุมการระบาด 3 เดือน คาดจีดีพีปี 64 ติดลบ 0.3% เศรษฐกิจเสียหาย 300,000–600,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังชี้ว่ารัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 1 มองหนี้ครัวเรือนอาจทะลุ 90% ของจีดีพีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถ้าคุมโควิดไม่ได้ทำให้รัฐต้องล็อกดาวน์เข้มข้น
โดยดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ บอกว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศจนทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้นนั้นอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2564 เติบโตเหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8%
จากการสำรวจยังพบว่า โควิด- 19 กระทบการจับจ่ายใช้สอยในประเทศอย่างมาก และยังกระทบไปถึงภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว ซึ่งศูนย์ ฯ ได้ประเมินว่าสถานการณ์ไม่ควรยืดเยื้อนานเกิน 3 เดือน โดยรัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้อย่างน้อย 200,000 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ควบคู่ไปกับกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือ “มาตรการคนละครึ่ง” เพราะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2-3 เท่าตัว
ทั้งนี้ยังมองว่ายังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบหนักได้หากคุมการระบาดไว้ไม่อยู่ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นขึ้นซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2564 มีโอกาสจะติดลบถึง 11.3% แต่ปัจจุบันยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 นี้อาจจะติดลบ 4% และหากสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ภายในไตรมาส 1 ก็มีโอกาสที่จีดีพีไตรมาส 2 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 8-10%
ในขณะที่นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการยกระดับมาตรการใน 28 จังหวัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดว่ามาตรการที่รัฐบาลนำออกมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประเทศรอบนี้ เหมือนเป็นซอฟต์ล็อกดาวน์ โดยศูนย์ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไว้ใน 3 กรณี คือกรณีฐาน (คุมสถานการณ์ได้ภายใน 1 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์) คาดจีดีพีปี 64 จะโตได้ 2.2% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.71% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 85% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 100,000-200,000 ล้านบาท
ซึ่งหากกรณีที่แย่กว่า (คุมได้ภายใน 2 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน+ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 1 เดือน) คาดจีดีพีปี 64 จะโตได้ 0.9% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.76% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.1% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 200,000-400,000 ล้านบาท ส่วนกรณีแย่ที่สุด (คุมได้ภายใน 3 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน-ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 2 เดือน) คาดจีดีพีปี 64 จะติดลบ 0.3% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.81% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 87.2% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 300,000-600,000 ล้านบาท โดยก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่าบ้านเราจะอยู่ในกรณีไหน ลุ้นให้คุมโควิดอยู่ และวัคซีนมาโดยเร็ว !