svasdssvasds

ส่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐปี2563 อันไหนปัง – แป๊ก

ส่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐปี2563 อันไหนปัง – แป๊ก

ใกล้เข้ามาทุกทีแสงสุดท้ายของปี 2563 กำลังจะดับลง ย่างก้าวสู่ปีใหม่ปีวัว ไม่รู้ว่าจะเป็นปีวัวกระทิงที่ดุ เหมือนปีหนูไฟ หรือเปล่า วันนี้จะพามาย้อนดูเรื่องเล่าเศรษฐกิจไทยปีหนูไฟเจออะไรมาบ้าง พร้อมส่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐปี 2563อันไหนปัง อันแป๊ก

บาดแผลคราวนี้ รู้ดีว่าหนัก แผลมันใหญ่นัก ต้องรักษานาน เขายิงจนซม ล้มซุน เขาซัดเสียพรุน เลือดซ่าน ฟังเพลงนี้แล้วเข้ากับเศรษฐกิจไทยปี2563 มาก ๆ เพราะถูกโควิด -19 ซัดจนน่วมระบมโซซัดโซเซล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นท่า ส่งออกก็ดิ่งเหวจากผลกระทบโควิด -19 เล่นงานประเทศคู่ค้าไปทั่วโลก ตลาดเงิน ตลาดทุนผันผวนสุด ๆ แถมเงินบาทยังมาแข็งค่าช่วงปลายปีอีกด้วย

ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักก็ยังมาดับลงเพราะต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่เลยทีเดียว ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรกรก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย  หนุ่มสาวโรงงาน คนทำงานออฟฟิศ ก็ถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้างกันระนาว พ่อค้าแม่ค้า คนหาเช้ากินค่ำทุกอาชีพต่างเดือดร้อนดิ้นรนหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันสุด ๆ

จะหวังพึ่งผีพึ่งไข้โครงการที่รัฐลงทุนเพื่อให้เกิดจ้างงาน และเม็ดเงินไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มาติดต่อโควิด -19 ที่รัฐต้องเจียดเม็ดเงิน พร้อมไปกู้เงินมาช่วยโควิด -19 ก่อน รวมถึงเม็ดเงินที่จะลงไปสู่ท้องถิ่นก็สะดุดอยู่ช่วงหนึ่งทำให้หลาย ๆอย่างดูอึมครึมไปหมด โดยมีการคาดการณ์กันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ปีนี้จะอยู่ที่ -7.3% ถึง -7.8% ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จประการใดหลายคนบอกว่าเผลอ ๆ อาจจะติดลบมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป

มารผจญหลัก ๆ ที่กระทบเศรษฐกิจไทย คือโควิด – 19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ลากยาวมาถึงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เกมทำท่าว่าจะจบลงในไตรมาสที่ 3 เมื่อทุกฝ่ายของประเทศร่วมใจกันสู้กับไวรัสร้ายจนกระทั่งเอาอยู่ แต่ทันใดนั้นก่อนสิ้นปีความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เมื่อโควิด -19 กลับมาระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง สาเหตุหลักมาจาก ทั้งคนไทย และแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาจากช่องทางธรรมชาติตามตะเข็บชายแดนจนทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง ซึ่งในตอนนี้มากกว่า 51 จังหวัดแล้ว พร้อมทั้งไม่มีทีท่าจะจบลงง่าย ๆ

จะว่าไปแล้วเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะพึ่งพาส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนรัฐ การบริโภคในประเทศ  รวมถึงอื่น ๆ ไม่ได้เลยจริง ๆรัฐจึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาแรงอัดเข้าไประบบเศรษฐกิจไทยเพื่อให้ฟื้นคืนชีพผ่านหลายโครงการเลยทีเดียว วันนี้ส่งท้ายปี “สปริงนิวส์”จะขอสรุปโครงการที่สำคัญ ๆ มีทั้งปัง และแป๊ก มาให้แบบย่อ ๆ ให้ได้เห็นภาพว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ส่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐปี2563 อันไหนปัง – แป๊ก

มาเริ่มจากช่วงที่โควิด -19 ระบาดใหม่ๆ ต้นปี2563 ผู้คนได้รับผลกระทบมากมาย รัฐก็ไม่รีรอที่จะช่วยเหลือด้วยโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่แจกเงินให้ผู้เดือดร้อนคนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาคนกำลังตกงาน อดอยาก ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ กว่าจะผ่านไปได้โครงการนี้ก็มีปัญหาใช่ย่อยเพราะขั้นตอนปฏิบัติเกิดความวุ่นวายไปทั่ว ซึ่งจากเดิมตั้งเป้าหมายจะช่วยอาชีพอิสระที่ตกงานเพียง 3 ล้านคน แต่เมื่อกำหนดคุณสมบัติที่ไม่รัดกุม ทำให้คนไทยกว่าครึ่งประเทศแห่มาร่วมลงทะเบียนถึง 28.8 ล้านคน และที่สำคัญแถมยังมีม็อบล้อมกระทรวงการคลังมาเรียกสิทธิ์ของตัวเอง

จนทำให้รัฐบาลต้องยอมควักกระเป๋าเพิ่มจ่ายเยียวยาถึง 15.3 ล้านคน ใช้เงินไป 2.2 แสนล้านบาท มากกว่าเดิมถึง 5 เท่าตัวจ่ายไป กลายเป็นบทเรียนราคาแพงว่าแจกเงินแถมยังโดนด่าอีก จากนั้นยังไม่จบง่าย ๆ จนในที่สุดรัฐบาลควักเงินก้อนโตอีกนับแสนล้านบาท มาแจกให้ เกษตรกร 7.7 ล้านครัวเรือน  5,000 บาท นาน 3 เดือน  กลุ่มคนเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงวัย เด็กแรกเกิด รวม 6.7 ล้านครัวเรือน ได้เงิน 3,000 บาท เช่นเดียวกับบัตรคนจนอีก 1 ล้านราย ที่ได้รับเงินไป 3,000 บาท สุดท้ายท้ายที่สุดหลายคนก็บอกว่าโครงการนี้แป๊กมากกระตุ้นเศรษฐกิจได้นิดเดียวเอง

ต่อมาดูมาตรการในการกระตุ้นการท่องเที่ยวกันหน่อย คือ โครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน”  เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิได้ถึง 5 ล้านคืน (1 คน จองได้ 5 คืน) ได้ตั้งแต่ 6 โมงเช้าของวันที่ 15 ก.ค.2563 จนถึง 31 ต.ค.2563 โดยรัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าที่พักในลักษณะร่วมจ่าย 40% ของค่าที่พัก แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน และนักท่องเที่ยวจะได้รับ E-Voucher คืนละ 600 บาท ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงจะได้รับเงินคืนจากตั๋วเครื่องบินสูงสุด 2,000 บาท จำนวน 2 ล้านใบด้วย

แต่สุดท้ายแม้ว่าโครงการนี้จะมีคนมาลงทะเบียนจำนวนมาก แต่ไม่มีคนสนใจที่จะเข้าไปจองที่พักเนื่องจากมีขั้นตอนยุ่งยาก จนทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแผนใหม่ปรับเงื่อนไขใหม่ให้เชิญชวนคนมากขึ้น อย่างเช่น เพิ่มเงิน E-Voucher  จากคืนละ 600 บาท เป็น 900 บาท แลเพิ่มสิทธิห้องพักจาก 5 คืนเป็น 10 คืน และ 15 คืนตามลำดับ จะเห็นได้ว่ารัฐพยายามทำทุกวิถีทาง แต่ก็ยังมีคนบอกว่าโครงการนี้ไม่ปัง แถมยังเจอแจ็คพอตเมื่อพบกลิ่นตุ ๆ ว่ามีการทุจริตโชยออกมาซึ่งมีร้านค้าโรงแรมที่พักกว่า 500 ราย รวมหัวกับประชาชนอีกนับแสนคน ทำพฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อฉลจนต้องพักการใช้สิทธิ

ต่อมาคือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตรงนี้หลายคนบอกว่าเป็นการช่วยเหลือคนรายได้น้อย หรือที่ชอบเรียกติดปากกันว่าบัตรคนจน รัฐก็ได้ทำโครงการนี้มาสักระยะหนึ่งแล้วเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้นำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 500 บาท ต่อคนต่อเดือน โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจ่ายเงินเพิ่ม 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2564 โครงการ“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จำนวน 500 บาท 14 ล้านคนโดยระยะเวลามาตรการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม 2564 โดยโครงการนี้หลายคนบอกว่า ปังมากสำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และกระตุ้นเม็ดเงินลงสู่ชุมชน

ส่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐปี2563 อันไหนปัง – แป๊ก

ถัดมา คือโครงการคนละครึ่ง ที่หลายคนบอกว่าเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือคนที่มีรายได้ปานกลาง เป็นการฟื้นฟูการบริโภคในประเทศ รัฐบาลได้ออกมาตรการชุดใหญ่ วงเงิน 5.1 หมื่นล้าน เพื่อหวังกระตุ้นกำลังซื้อ ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าในไตรมาสสุดท้าย โดยเฟสแรกสำหรับคนชั้นกลาง 10 ล้านคน โดยรัฐบาลจะไปช่วยจ่ายค่าซื้อสินค้า 50% ไม่เกินวันละ 150 บาท รวมตลอดโครงการสูงสุด  3,000 บาท ต่อมาหลายฝ่ายเห็นว่าปังมากจึงมีการต่อ “คนละครึ่ง เฟส 2” ให้สิทธิ์ใหม่ทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ ขยายวงเงินคนเดิมที่ได้อยู่แล้วจากเดิม 3,000 บาท เป็น 3,500 บาท หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการนี้ปังปุริเย่สุดๆ ไปเลยโครงการต่อไปคือ"ช้อปดีมีคืน" ที่หลายคนบอกว่า เป็นมาตรการสำหรับคนที่มีรายได้สูงที่มีเงินแบบเหลือๆ ไว้นำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ที่จะต้องยื่นภาษีในช่วงเดือนมีนาคม 2564 โดยเปิดให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าและบริการ แล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งกำหนดว่าสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการนี้ มี 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน 2.ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการ "คนละครึ่ง" ไปแล้วโดยมาตรการช้อปดีมีคืน มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 ผู้ที่จะซื้อสินค้าต้องซื้อกับร้านค้าที่จดทะเบียนภาษี VAT เท่านั้น

ทั้งนี้โครงการนี้หลายคนก็บอกว่าไม่ปังสักเท่าไหร่ เพราะหลายคนมองว่ากลุ่มผู้ที่เสียภาษีจริง ๆมีน้อยหากเทียบกับกลุ่มอื่น ๆในประเทศ จึงทำให้โครงการนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สักเท่าไหร่ ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างโครงการที่รัฐงัดมากระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2563 ที่โดดเด่น แต่ก็ยังมีโครงการอื่น ๆ อื่นมากมายที่รัฐทำ ปังบ้าง แป๊กบ้าง คละเคล้ากันไป แต่เชื่อเหลือเกินว่ารัฐบาลก็ได้ทำงานกับทุกโครงการเต็มที่จริง ๆ !

 

 

 

related