โควิด- 19 ทำพนักงานหลายบริษัทน้ำตาตกไปไม่น้อย หลังถูกเลิกจ้าง หรือบางรายถูกลดเงินเดือน ทำให้ตอนนี้แรงงานบ้านเราปั่นป่วนมากมาย หลายคนออกมาทำงานอิสระ ค้าขาย หลายคนผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ในสายงานที่ตนเองถนัด แต่... ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคนเพราะคู่แข่งก็มีเยอะ วันนี้จะพาไปคุยกับ 2 ฟรีแลนซ์ ที่เขาประสบความสำเร็จมาแล้ว ว่าเขามีวิธีการอย่างไรให้ติดลมบน และการบริหารเงิน
ช่วงนี้ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าตลาดแรงงานไทยปั่นป่วนเสียจริง ๆ ส่วนหนึ่งมาจากพิษเศรษฐกิจ การส่งออก ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก รวมถึงโควิด- 19 ที่ทำให้หลายโรงงาน หลายโรงแรม หลายกิจการ ต้องยกธงขาวยอมแพ้กับพิษเศรษฐกิจในครั้งนี้ ส่วนพนักงานก็โบกมือลาทั้งน้ำตาออกมาลอยแพ หลายคนเลือกที่จะหาอาชีพต่าง ๆ นานาไว้รองรับตัวเอง บางคนโชคดีไปสมัครงานที่ใหม่ก็ได้เลย
แต่ .... บางคนก็สุดแสนจะลำบากเพราะที่ไหน ๆ ก็ไม่อยากรับคนเพิ่ม ลดต้นทุนลง สุดท้ายก็ไม่รู้จะไปทางไหน ทำอะไรดี แต่เท่าที่สังเกตส่วนใหญ่ก็จะลงทุนค้าขายทั้งตามตลาดนัด สถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก หรือบางรายค้าขายผ่านออนไลน์ แต่...ดูไปดูมาก็เหมือนว่าคนขายจะมากกว่าคนซื้อ เพราะใคร ๆ ก็ขายของเต็มตลาดไปหมด ส่วนหลายคนก็ออกไปเป็นฟรีแลนซ์กันเกลื่อนตลาดแรงงานเช่นกัน บางคนฝีมือดีในสายอาชีพที่ตัวเองถนัดก็ทำให้ติดลมบนงานมารัว ๆ
ผิดกับบางคนที่งานมาแบบกะปริบกะปรอยทำให้หวั่นใจไม่น้อยว่าสิ้นเดือนมาจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ค่างวดรถ งวดบ้าน สารพัดค่าใช้จ่าย ไหนจะเงินออมเพื่ออนาคตอีก ว่าไปแล้วคิด ๆ ไปก็ปวดหัว แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหาทางออก และใช้วิธีไหนในการแก้ไขปัญหา วันนี้ “สปริงนิวส์ออนไลน์” จะพาไปคุยกับ 2 ฟรีแลนซ์ที่เขายังอยู่ได้ในยุคโควิด- 19 และเศรษฐกิจเช่นนี้ บวกกับการแข่งขันที่สูงมาก ว่าเขาทำอย่างไรถึงมีงานเข้า และบริหารการเงินได้ดีเยี่ยม
เริ่มกันที่หนุ่มน้อยวัยเกือบ ๆ 30 ปี ‘โยธิน เภาศรี’ เล่าให้ฟังว่า ยอมรับว่าการบริหารเงินสไตล์วิถีฟรีแลนซ์เป็นเรื่องที่ยากเพราะเงินไม่ได้มาแบบสม่ำเสมอเหมือนอย่างเงินเดือน ดังนั้นถ้าคนที่ไม่มีวินัย ไม่รู้จักวางแผนการเงินที่ดี ก็จะทำให้เงินเหล่านั้นหายเข้าไปในกลีบเมฆ พอสิ้นเดือนมาก็จะไม่มีค่างวดรถ งวดบ้าน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยเขาแนะนำเทคนิค คือใช้วิธีแบ่งโอนเงินไปเก็บเป็นก้อนๆ เช่น ก้อนแรกคือ ค่างวดรถ ก้อนต่อมาคือค่างวดบ้าน สองสิ่งนี้คือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะหากขาดส่งงวดไปอาจได้รับผลกระทบได้
ถัดมาคือจะต้องกันไว้เป็นเงินเก็บประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือนที่ได้รับเงินมาเพราะเงินก้อนนี้เป็นก้อนแห่งอนาคตตัวเราเอง และครอบครัว ก้อนต่อมาที่จะต้องวางแผนให้ดีคือ ค่าใช่จ่ายสำหรับตัวเองรายจ่ายค่าของกินของใช้ สินค้าอุปโภค บริโภค ตรงนี้ก็สำคัญเช่นกันเพราะเราจะต้องดำเนินชีวิตในแต่ละเดือนให้รอดก็คงต้องหวังเพิ่งเงินในส่วนนี้ ส่วนอีกก้อนหนึ่งที่หนุ่มๆ จะต้องเก็บเงินก็คือเงินแต่งงาน อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังทำอยู่ในตอนนี้เพื่อหวังที่จะสร้างครอบครัว ส่วนนี้ขอแนะนำว่าให้ขยันๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่เกี่ยงงานรับให้เพราะจะได้เงินมาไวในปริมาณที่มาก พูดง่าย ๆ คือเก็บเงินได้เร็ว
นอกจากการบริหารเงินแบ่งเก็บ หรือแบ่งให้เป็นสัดส่วนเป็นก้อน ๆ แล้ว สำหรับคนที่จะเข้าสู่วงการงานฟรีแลนซ์ใหม่ ๆ จะต้องเรียนรู้ระบบงานด้วย อย่างบางบริษัทหลังจากจบงานก็จะให้วางบิลไว้ 1 เดือน หรือ 45 วัน เงินถึงจะเข้า ดังนั้นจะต้องทราบในเรื่องนี้ด้วยเพื่อวางแผนรับมือการบริหารจัดการเงินให้อยู่ได้
ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ควรรู้ไว้เพื่อให้เราได้รับรู้ และตั้งตัว อย่างไรก็ตามในส่วนของคิวงานที่ดีควรรู้ล่วงหน้าก่อน 1 เดือนถึงจะดีทำให้เรารู้วันว่างเพื่อที่จะรับงานต่อ ๆ ไปได้เลยหากมีงานแทรกเข้ามา ไม่เพียงเท่านี้ยังขอแนะนำว่าให้มองการหางานแบบภาพรวมยาวๆ ให้หางานไว้เรื่อย ๆ สำรองไว้ 3 เดือน หรือมากสุด 1 ปี จะดีมาก หากลูกค้ามีความชัดเจนเรื่องคิวจะเป็นผลดีต่อคนทำฟรีแลนซ์ทำให้เราเห็นตารางงานและวางแผนชีวิตได้
ส่วนเรื่องของการดูแลตัวเองเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรืออุบัติเหตุ แนะนำว่าให้ซื้อประกันไว้เพื่อรองรับตรงส่วนนี้ ด้านการลงทุนอื่น ๆ ถ้าอยากลงทุนบ้างก็แนะนำแต่พองาม ส่วนตัวเขากำลังมองหาซื้อหุ้นไว้ รอหลังโควิด -19 คลี่คลายจะเริ่มลงทุนบ้าง แต่ขอเตือนให้พอประมาณเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง
มาดูทางด้าน ‘บุญญานันท์ คำโพธิ์’ สาววัย 31 ปี เล่าว่า งานที่รับมาก็จะเป็นงานกราฟฟิก ทำคลิปวิดีโอ ตัดต่อ โปรดักชั่น งานเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ โดยรับงานมาจากบริษัทเล็ก ๆ ที่กำลังเติบโต และยังไม่มีเงินจ้างพนักงานประจำจึงมาว่าจ้างฟรีแลนซ์แทน เธอเผยว่าข้อดีของการรับงานมาทำที่คอนโดคือไม่ต้องรีบไปเข้างานตั้งแต่ 08.00 -17.30 น. ทุกวัน มีเวลายืดหยุ่น บริหารเวลา บริหารตัวเองได้
.
หัวใจสำคัญของการทำงานฟรีแลนซ์ คือต้อง ขยัน ตรงต่อเวลา ส่งงานไว งานมีประสิทธิภาพ ถ้าเราทำดีแล้วลูกค้าจะบอกกันต่อปากต่อปาก จากนั้นก็จะเริ่มมีงานชุกชุม ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องรักษาคอนเนคชั่น และพาร์ทเนอร์ ให้เกาะให้แน่ โดยยอมรับว่างานฟรีแลนซ์ปัญหามีเยอะ โดยเฉพาะงานด้านกราฟฟิกมีปัญหาเยอะมาก ดังนั้นจะต้องบรีฟงานกันให้ดี ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะจะช่วยให้ลดการแก้งานที่ซ้ำซ้อน เสียเวลา อีก
อีกเรื่องหนึ่งคือการเป็นฟรีแลนซ์จะต้องวางแผนการทำให้ให้รัดกุมวางลำดับความสำคัญว่างานไหนจะส่งก่อน งานไหนจะส่งทีหลัง จะต้องถามคนว่าจ้างเราให้ชัดเจนว่าจะเอางานวันไหน เวลาเท่าใด จากนั้นก็ต้องวางแผนการทำงานให้ทันตามลูกค้าต้องการ ย้ำต้องลำดับความสำคัญให้ดี
นอกจากนี้จะต้องเป็นคนที่ทำงานด้วยสติ ทำใจให้เย็นๆ นิ่งให้ได้มากที่สุด เพราะบางครั้งลูกค้าก็จะมีอารมณ์ที่ร้อนแรงใส่เรา ดังนั้นจะต้องใจเย็นให้มากพอ พร้อมแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ ความนิ่งจะช่วยให้เราผ่านงานที่ยากแสนยากไปได้ ส่วนเรื่องการบริหารเงินก็ต้องบริหารให้ดีเพราะอาจมีงานเข้ามาบ้างไม่เข้ามาบ้าง เงินจ่ายแบบไม่เป็นเวลา
สุดท้ายขอแนะนำว่าควรหา “ฟรีแลนซ์ประจำ” ที่ได้รับเงินเดือนชัวร์ทุกสิ้นเดือน เพราะเราต้องใช้ต้องจ่ายในชีวิตประจำวัน และให้รับฟรีแลนซ์ไม่ประจำอื่น ๆ เป็นตัวเสริมจะช่วยให้ชีวิตเราลดความเสี่ยงเรื่องการเงินลง นี่คือเคล็ดลับที่วิถีฟรีแลนซ์สามารถลองนำไปปฏิบัติดูเพื่อให้ปรับตัวเข้าได้กับทุกสถานการณ์