ใครเป็นหนี้ฟังทางนี้ ! ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เปิดสูตรคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ-ตัดชำระหนี้ใหม่เริ่มปี 2564 เพื่อลดหนี้เสียและลดภาระหนี้ของประชาชน ดังนั้นเจ้าหนี้ และคนที่เป็นหนี้ควรศึกษาข้อมูลไว้
การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ แต่โบราณก็บอกไว้เช่นกันว่าถ้าไม่มีหนี้ก็ไม่มีหน้า แต่จะว่าไปแล้วการมีหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะการมีหนี้ในปัจจุบันก็เพื่อตอบสนองความต้องการทางการดำรงชีวิตของคนเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต สารพัดหนี้ที่หลายคนไปกู้มา
โดยหนี้แต่ละประเภทก็มีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันออกไป ส่วนขีดความสามารถในการใช้หนี้ของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันออกไป เพราะบางคนมีรายได้มากก็รีบใช้หนี้จะได้หมด ๆ ไป แต่บางคนหาเช้ากินค่ำก็ต้องค่อยไปค่อยไป ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้แล้วก็... หลายฝ่ายออกมากังวลว่าจะเกิดหนี้เสีย (NPL) มากขึ้นเพราะหากมีการไปโขกดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินก็จะทำให้ขีดความสามารถในการผ่อนชำระต่ำลง ในท่ามการวิกฤติเศษฐกิจจากผลกระทบโควิด -19 แบบนี้
ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ออกโรงประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ดังนั้นผู้ที่เป็นหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายควรศึกษาเรื่องนี้ให้ดี วันนี้ “สปริงนิวส์ออนไลน์” จะมาสรุปและเล่าให้ฟังให้ทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้ และผู้ที่เป็นหนี้เข้าใจตรงกัน
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ใหม่เพื่อเป็นช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
มาดูเรื่องแรก 1.การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น
2. พูดถึงเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ ซึ่งการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง
ส่วน 3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น
ทั้งนี้การปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
สำหรับประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงมาคำนวณ แบงก์ชาติได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงินได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ในการคำนวณแล้ว ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด