คดีโฉนดถุงกล้วยแขก มีจุดเริ่มต้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ซื้อที่ดินมาอย่างถูกต้อง แต่วัดสวนแก้วกลับต้องแพ้คดี และสูญเสียเงิน 10 ล้านบาท ล่าสุด มีสัญญาณที่ดี วัดสวนแก้วอาจได้รับเงิน 10 ล้านบาทคืน
โฉนดถุงกล้วยแขก กลายเป็นข่าวดังขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ได้เปิดเผยว่า ผู้ชนะคดี แจ้งให้ย้ายข้าวของออกภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยที่ดินผืนนั้น อยู่ใกล้วัดสวนแก้ว มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ
ทำให้คดีนี้ได้รับความสนใจพร้อมข้อกังขาว่า ในเมื่อมูลนิธิวัดสวนแก้วจ่ายเงินซื้อที่ดินอย่างถูกต้อง แต่ทำไมกลับเป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องสูญเสียเงินจำนวน 10 ล้านบาท โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือเยียวยา แม้แต่น้อย
โดยพระพยอมเล่าว่า “โฉนดถุงกล้วยแขก ก็เราซื้อที่ดินเมื่อ ปี 2547 โฉนดที่ดินก็ได้มา ของจริงเลย ศาลสั่งให้ทำโฉนด กรมที่ดินก็ทำโฉนดใบนี้ออกมา
“แล้วผู้ได้รับโฉนด คือถือครองมานาน ก็ได้มาทำการมาขายให้วัดน่ะ วัดก็รอบคอบนะ ไปถามกรมที่ดินว่าโฉนดนี้มีปัญหาไหม เป็นหนี้ ธ.ก.ส. อะไรหรือเปล่า
“เขาบอก หลวงพ่อจะเป็นพระขี้ระแวงทำไม ซื้อได้ เขาก็แนะนำว่าซื้อได้ ถ้าซื้อไม่ได้ เขาจะทำโอนทำไม”
โดยคดีนี้ มีจุดเริ่มต้นจากนางวันทนา ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นเกิน 10 ปี ต่อมาได้ยื่นคำร้องต่อศาล แล้วก็ได้รับสิทธิครอบครองปรปักษ์ เป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้นอย่างสมบูรณ์
นางวันทนาจึงไปยื่นเรื่องกับกรมที่ดิน กระทั่งได้รับโฉนดรับรองสิทธิ์ ต่อมาได้เสนอขายที่ดิน 1 ไร่เศษ ให้กับมูลนิธิวัดสวนแก้ว
หลังจากนั้น มูลนิธิฯ จึงให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ทำการตรวจสอบ แล้วก็ได้รับการยืนยันว่า โฉนดถูกต้อง สามารถซื้อขายได้ มูลนิธิฯ จึงซื้อที่ดินดังกล่าวในราคา 10 ล้านบาท ก่อนจะเกิดปัญหาขึ้น ในปี 2549
“แต่จู่ๆ มีทายาทมา หลังจากเราพัฒนาพื้นที่นี้ไปได้ 2 ปี 7 เดือน เขาบอกเขาเป็นลูกของเจ้าของที่ดินนี้ จะขอที่ดินคืน
“ตอนนั้นอาตมาก็คิดว่า เอ ถ้าเขาเสียหาย เขาไม่ได้เงินจากที่ดินของเขา คนอื่นเอามาขาย ถ้าเขาเป็นตัวจริง ไม่ได้ อาตมาก็บอก เอาอย่างนี้โยม เราจบกันด้วยดี ไม่มีเรื่องกินแหงนแคลงใจ อาตมาจะกัดฟันเทศน์ หาเงินให้โยมอีก 3 ล้าน
"เขาก็พูดสวนมาเลยว่า หลวงพ่อ พวกผมอัดหมดไป 10 กว่าล้าน จะมาเอา 3 ล้าน มันก็ไม่ได้ ถ้า 15 ล้านตกลง”
เมื่อคู่กรณีไม่รับข้อเสนอ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล ซึ่งด้วยที่ดินดังกล่าวมีโฉนดรับรองอย่างถูกต้อง โอกาสที่มูลนิธิวัดสวนแก้ว จะชนะคดี จึงมีแนวโน้มสูงมาก แต่แล้วก็เกิดจุดเปลี่ยนที่พลิกผันอย่างไม่คาดคิด
“ถ้าเขาไม่ไปเปลี่ยน แต่ว่าก็เห็นใจนะ เขาถูกพาไปเซฟเฮ้าส์ แล้วก็ถูกเกลี้ยกล่อม เมื่อเขาถูกเกลี้ยกล่อมว่า ถ้าไม่เซ็นแบบเช่า ถ้าเซ็นแบบสู้คดีครอบครองปรปักษ์ 18 - 19 ปี รวมทั้งแม่เขาอยู่ด้วยก็ 30 ปี สิทธิ์ในการครอบครอง ตามกฎหมายปรปักษ์ เขาได้ชัวร์ ชัวร์
"ถ้านางวันทนา ยังยืนหยัด สู้แบบเดิมว่า ครอบครองมา ไม่ไปเปลี่ยนคำให้การ ตามที่เขาแนะนำ ตามที่ทนายของฝ่ายเขาแนะนำ ป่านี้วัดก็ยังได้ทำที่ดินพัฒนา ได้มีคนไปทำมาหากินตรงนั้น"
การกลับคำให้การของนางวันทนา ทำให้สิทธิ์ครอบครองที่ดินของมูลนิธิฯ กลายเป็นโมฆะ และทางนางวันทนา ก็ไม่สามารถคืนเงิน 10 ล้านบาท ให้กับมูลนิธิฯ ได้ ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมมูลนิธิวัดสวนแก้ว ไม่ฟ้องนางวันทนา ? โดยพระพยอมได้ให้เหตุผลว่า
“ถ้าเป็นคุณนะ คุณรู้ว่าหญิงแก่ๆ คนหนึ่ง ถูกหลอกจนหมดตัว 10 ล้าน ไม่มีเหลือสักบาทเดียว
“นอกจากอาตมาไม่ฟ้องแกน ยังสงสาร อยากไปเยี่ยมแกสักครั้งหนึ่ง จะเอากระเช้าไปเยี่ยมคนป่วย นอกจากไม่ฟ้องแล้วยังสงสาร
“คนที่พูดอย่างนั้น คือคนไม่รู้ ถ้าคนรู้ว่าหญิงแก่คนนี้ โดนตะล่อม เกลี้ยกล่อม จนยอมเซ็น ด้วยความไม่รู้ทางกฎหมาย ด้วยวัยที่มากแล้ว ฟ้องไม่ลง ถ้าหัวใจยังมีเมตตา”
หลังจากฝ่ายชนะคดีได้กรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินแล้ว ก็แจ้งให้มูลนิธิฯ ย้ายข้าวของออก แต่ที่ทำให้เป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา ก็เนื่องจากมีลักษณะข่มขู่และคุกคาม
“ใช้คำแรงอยู่คำหนึ่ง ผมไม่อยากจะใช้ความรุนแรงกับพระพยอมนะ ให้ไปบอกท่านด้วย เขาไม่ได้พูดกับอาตมาโดยตรง พอดีเด็กมันถ่ายคลิปไว้ ถ้าไม่เชื่อก็เอาคลิปมาฟัง เขาไปบอกคนที่ไปนอนอยู่ที่นั่น”
ต่อมาเมื่อหลวงพ่อได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ด้านกฎหมาย อีกทั้งต้องการให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นแนวทางให้กับผู้ที่เดือดร้อน ท่านจึงตัดสินใจสู้ต่อ อย่างน้อยก็เพื่อให้รู้ว่า ประเทศนี้ ยังมีความเป็นธรรม หลงเหลืออยู่ หรือไม่ ?
“แต่คุณเชื่อไหม อาตมาตั้งแต่บวชมานะ ไม่มีความปลื้มใจอะไร ในชีวิตเท่ากับครั้งนี้ สื่อมาวันละ 12 ช่อง 12 รายการ
“ออกไปบิณฑบาต อิสลามนะ บอก หลวงพ่อสู้ๆ แล้ววันนี้ไม่เชื่อ นักข่าวตามไปได้เลย บิณฑบาตจะมีคนพูดว่า หลวงพ่อ เห็นใจจัง คนมาทำบุญ มาด้วยความเห็นใจ มามากกว่าตอนที่ไม่มีโควิดอีก
“เราก็มานั่งคิดว่า เราแพ้ทางคดี แต่เราชนะใจสังคม กฎหมายอาจจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยชีวิตคนได้ทุกชีวิต ทุกเหตุการณ์ทุกเรื่อง ทุกกรณี แต่กรรม ศักดิ์สิทธิ์
“เชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้อง บิดที่ดินแปลงนี้จนเกิดวิปริต ไม่มีใครร้อนใจ เท่ากับพวกเขาเหมือนกัน”
ล่าสุด อาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี และ ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กก.ช่วยเหลือ ปชช.ฯ เนติบัณฑิตยสภา ได้เข้ามาช่วยเหลือมูลนิธิวัดสวนแก้ว
และเห็นช่องทางตามประมวลกฎหมายฯ แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สิน มาโดยสุจริต... ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของ จะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
สรุปก็คือ ในกรณีที่มูลนิธิฯ ซื้อที่ดินมาอย่างถูกต้อง หากผู้ชนะคดีต้องการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวก็ต้องชำระเงินให้กับมูลนิธิฯเป็นจำนวน 10 ล้านบาท
การต่อสู้ทางคดีความก็ว่ากันไปตามตัวบทกฎหมาย แต่สิ่งที่ทำให้หลวงพ่อคับข้องใจ ก็คือ ในเมื่อทำอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อเกิดปัญหา ทำไมประชาชนตาดำๆ ต้องต่อสู้เพียงลำพัง โดยไม่ได้รับการเหลียวแล หรือเยียวยาใดใดเลย หลวงพ่อจึงฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้ดังนี้
“โยม ถ้าจะทำอะไร เกี่ยวข้องกับราชการ จะทำนิติกรรม โอนอะไรกันก็ตาม อย่าเพิ่งไว้ใจคำแนะนำ ของข้าราชการทุกคน อาจจะมีบางคนรู้ไม่จริง ไม่รู้แล้วชอบชี้ ถ้าไม่รู้ไม่ชี้ ก็สบายกัน
"สุดท้ายขอบิณฑบาตข้าราชการไทย ให้เอาใจใส่ ปกป้องคุ้มครอง ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ อย่าคิดอามิสสินจ้าง สินบนเป็นใหญ่ เพราะคำว่าข้าราชการแปลว่า ผู้ทำงาน รับใช้ พระเนตร พระกรรณ ของพระราชา ให้ประชาชนชื่นอกชื่นใจ
"แต่ถ้าทำไปแล้ว ประชาชนขมขื่น เจ็บปวด ขอบิณฑบาต อย่ากระทำเลย กฎแห่งกรรม จะทำให้ต้องร้อนใจกันต่อไป เจริญพร”