svasdssvasds

พระพยอม อธิบายเอง ! สรุป "คดีโฉนดถุงกล้วยแขก" แบบเข้าใจง่าย

พระพยอม อธิบายเอง ! สรุป "คดีโฉนดถุงกล้วยแขก" แบบเข้าใจง่าย

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว อธิบายเรื่องราวของ "คดีโฉนดถุงกล้วยแขก" ทั้งๆ ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทำไมถึงเป็นฝ่ายแพ้คดี ? สูญเงิน 10 ล้าน อีกทั้งไม่ได้รับการเยียวยา

จากกรณีที่เรียกว่า คดีโฉนดถุงกล้วยแขก แม้ในส่วนของคดีความ จบลงไปนานแล้ว โดยมูลนิธิวัดสวนแก้วเป็นฝ่ายแพ้คดี หมดกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อคดีนี้กลับมาเป็นข่าวดังอีกครั้ง ก็ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่อซื้อมาอย่างถูกต้อง แต่ทำไมถึงแพ้คดี ?

คดีนี้มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องทั้งตัวบุคคลและหน่วยงานของรัฐ การที่ผู้ได้รับความเสียหายออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จึงทำให้สังคมได้เห็นถึงปัญหา และหวังว่าจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ซึ่งผู้ที่อธิบายเรื่องราวนี้ได้ดีที่สุด ก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทีมข่าวสปริงนิวส์จึงนมัสการขอสัมภาษณ์และซักถามข้อสงสัยต่างๆ กับ พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว

รวมถึงได้มีการค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อนำมาอธิบายเป็นข้อๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้

 

1. จำนวนที่ดิน 1 ไร่เศษ ไม่ใช่ถูกยึดที่ดินทั้งวัด

 

อันดับแรกเลย พระพยอมขอชี้แจงเรื่องจำนวนที่ดินที่มีปัญหา เพราะมีญาติโยมหลายรายยังเข้าใจผิด โดยพระพยอมกล่าวว่า

“อาตมาขอฝากถึงญาติโยมว่า ส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่าเขายึดหมด เอาคืนหมดทั้งวัด อันนี้ไม่ใช่

“วัดมีที่ดิน 200 ไร่ แต่เขาเอาคืนเพียงไร่ครึ่ง ไม่ได้ทั้งหมด ตามที่ญาติโยมบางคนเข้าใจกัน

“มีญาติโยมมาถามอาตมาว่า แล้วจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีที่ไป จะให้ที่ 10 ไร่ ไปสร้างวัดใหม่ ชาตินี้ อายุป่านี้แล้ว สร้างไม่ไหวหรอก พอแล้ว

“เข้าใจนะ อาตมายังอยู่วัดสวนแก้ว และยังเทศน์ ยังสอน ยังทำกิจกรรมทางศาสนาที่วัดสวนแก้วตลอดไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่”

 

 

 

2. ซื้อที่ดิน เพราะเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน การันตี

 

พระพยอมเล่าว่า เมื่อปี 2547 “นางวันทนา” โยมที่อาศัยอยู่ละแวกวัด ได้เสนอขายที่ดินที่อยู่ติดวัด มีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 55 ตาราวา

แต่ก่อนซื้อ ท่านได้นำโฉนดดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่ที่ดินตรวจสอบ แล้วก็ได้รับการการันตีว่า สามารถซื้อขายได้ ซึ่งท่านได้เล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า

“วัดก็รอบคอบนะ ถามกรมที่ดินว่า โฉนดนี้มีปัญหาไหม ติด ธ.ก.ส. อะไรหรือเปล่า เขาบอก หลวงพ่อจะเป็นพระขี้ระแวงทำไม เขาก็แนะนำว่าซื้อได้”

เมื่อได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นอย่างนั้น ทางมูลนิธิฯ จึงทำการซื้อที่ดินดังกล่าวในราคา 10 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยใช้เงินอีก 7 - 8 แสนบาท ถมที่ดิน แต่แล้วในอีก 2 ปี 7 เดือนต่อมา ก็เกิดปัญหาขึ้น

 

3. ทายาทเจ้าของที่ดิน แสดงตัว

 

ในปี 2549 ได้มีผู้มาแสดงตัวว่า เป็นทายาทเจ้าของที่ดิน โดยบอกว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของแม่ของเขา ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ส่วนนางวันทนา ที่นำที่ดินไปขายให้กับวัดสวนแก้ว เป็นเพียงผู้อาศัย จึงไม่มีสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด

 

4. การอ้างว่า เป็นทายาทเจ้าของที่ดิน มีผลตามกฎหมายหรือไม่ ?

 

การอ้างเป็นทายาทเจ้าของที่ดินของชายคนดังกล่าว ในเวลานั้นไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะก่อนที่จะขายให้กับวัดสวนแก้ว นางวันทนาได้เป็นเจ้าของที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

อันเนื่องมาจากได้ยื่นคำร้อง ขอครอบครองปรปักษ์ต่อศาล และศาลได้ตัดสินให้นางวันทนามีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

หลังจากนั้นนางวัทนาก็ได้นำเอกสารจากศาล ไปยื่นเรื่องกับกรมที่ดิน แล้วก็ได้โฉนดรับรองกรรมสิทธิ์ เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวอย่างสมบูรณ์

ก่อนนำมาขายให้กับมูลนิธิวัดสวนแก้ว โดยขั้นตอนต่างๆ ผ่านกรมที่ดินทั้งสิ้น

 

 

 

5. การครอบครองปรปักษ์ คืออะไร ?

 

ในกรณีของอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน หากผู้ใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นๆ โดยเปิดเผย และไม่ถูกขับไล่ เป็นเวลา 10 ปี ขึ้นไป ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อเป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้นได้ ซึ่งกรรมสิทธิ์ลักษณะนี้เรียกว่า การครอบครองปรปักษ์​

โดยในกระบวนการยื่นเรื่องขอครอบครองปรปักษ์ จะมีเอกสารแจ้งไปยังเจ้าของเดิม หากไม่มีการคัดค้าน ศาลก็จะตัดสินให้ผู้ยื่นคำร้องได้รับสิทธิ์การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินผืนนั้น

 

6. จุดเปลี่ยน

 

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการพลิกผัน ก็เนื่องจากต่อมานางวันทนาได้เซ็นยอมรับสภาพว่า ตัวเองเป็นเพียงผู้เช่า ส่งผลให้การซื้อขายที่ดินระหว่างเธอกับมูลนิธิวัดสวนแก้ว กลายเป็นโมฆะ

โดยพระพยอมได้กล่าวว่า “ถ้านางวันทนาไม่ไปเปลี่ยน ไม่ไปเซ็น... แต่ว่าก็เห็นใจนะ เพราะถูกพาไปเซฟเฮ้าส์ แล้วก็ถูกเกลี้ยกล่อม เพราะสิทธิ์ตามกฎหมายครอบครองปรปักษ์ นางวันทนาได้ชัวร์ๆ”

“ถ้านางวันทนายังยืนหยัด สู้แบบเดิมว่า ครอบครองมา ไม่ไปเปลี่ยนคำให้การตามที่ทนายของฝ่ายเขาแนะนำ ป่านี้วัดก็ยังได้พัฒนาที่ดิน ให้คนไปทำมาหากินตรงนั้นได้”

เมื่อสถานการณ์พลิกผัน นอกจากทางมูลนิธิฯ ไม่ได้ที่ดินแล้ว ยังต้องสูญเงินจำนวน 10 ล้านบาทที่จ่ายให้กับวันทนาไปอีกด้วย

 

7. ทำไมไม่ฟ้องนางวันทนา ?

 

ในข้อสงสัยที่ว่า "ทำไมไม่ฟ้องนางวันทนา" หลวงพ่อได้ให้เหตุผลว่า ฟ้องไม่ลง

“ถ้าเป็นคุณนะ คุณรู้ว่าหญิงแก่ๆ คนหนึ่ง ถูกหลอกจนหมดตัว สิบล้านไม่มีเหลือสักบาทเดียว

“นอกจากอาตมาจะไม่ฟ้อง ยังสงสาร อยากไปเยี่ยมสักครั้งหนึ่ง คนที่พูดอย่างนั้นน่ะ คือคนไม่รู้

“ถ้ารู้ว่าหญิงแก่คนนี้โดนตะล่อม เกลี้ยกล่อมจนยอมเซ็น ด้วยความไม่รู้กฎหมาย ด้วยวัยที่มากแล้ว ฟ้องไม่ลงหรอก ถ้าหัวใจยังมีเมตตา”

 

 

 

8. เสนอเพิ่มเงินให้กับคู่กรณี

 

ต่อมาทางมูลนิธิวัดสวนแก้วพยายามไกล่เกลี่ย โดยเสนอจ่ายเงินเพิ่มให้คู่กรณีจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้

“อาตมาก็บอก เอานี้โยม เราจบกันด้วยดี ไม่มีเรื่องกินแหนงแคลงใจ อาตมาจะกัดฟันเทศน์หาเงินให้โยมอีก 3 ล้าน เขาก็พูดสวนมาเลยว่า หลวงพ่อ ผมน่ะอัดหมดไป 10 ล้าน จะมาเอา 3 ล้าน มันก็ไม่ได้ ถ้า 15 ล้าน ตกลง”

ต่อมา ทางมูลนิธิฯ เสนอเพิ่มเงินให้ 5 ล้านบาท แต่อีกฝ่ายก็เพิ่มจำนวนเงินขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 45 ล้านบาท เมื่อการเจรจาไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ศาลจึงตัดสินให้ที่ดินผืนนั้น ตกเป็นของคู่กรณีในปี 2551

 

9. ปัญหาเกิดจาก “ไม่รู้แล้วชอบชี้”

 

การตัดสินใจซื้อที่ดินดังกล่าว พระพยอมบอกว่า ก็เพราะได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นจากเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน แต่เมื่อทางมูลนิธิได้รับความเสียหาย ทั้งที่ๆ ดำเนินการทุกอย่างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กลับไม่ได้รับการเยียวยาใดใดเลย

“โบราณเขาบอก ไม่รู้ไม่ชี้ แต่ข้าราชการของเรา ไม่รู้แล้วชอบชี้ ถ้าไม่รู้ไม่ชี้นะ บอกไม่รู้จะซื้อได้หรือไม่ พูดแค่นี้เราก็เฉลียวใจ แต่บอกซื้อได้ และทำการโอนให้ด้วย

“รองอธิบดีกรมที่ดิน ตอนนี้เกษียณไปแล้ว ก็ยังบอกว่า กรมที่ดินก็ยังมีความผิดนิดหน่อยแหละ เพราะเป็นผู้ออกโฉนด ออกโฉนดยังไม่ร้ายนะ ทำโอนโฉนดให้เป็นของวัด แล้วเก็บภาษีเข้ารัฐอีก”

“อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่สอนนิติศาสตร์ แกบอกว่า ถ้าพระพยอมเป็นชนชาติอเมริกัน ทำนิติกรรมกับรัฐ แล้วรัฐทำให้เสียหาย รัฐต้องเยียวยา ต้องติดตามดูแล

“...อย่าง คดี (น้องชาย) พระกิตติวุฑโฒ ที่ดิน 2.8 พันไร่ ถ้าไม่เกิดยิงกันบนศาล... ไม่รู้จะได้ที่ดินคืนหรือไม่ อาตมาเนี่ย ไม่รู้จะโดนยิงตายก่อนหรือเปล่า”

 

 

 

10. กรมที่ดิน ต้องมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่ ?

 

ซึ่งจากการที่มูลนิธิวัดสวนแก้วได้ซื้อที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบ และเมื่อได้รับการการันตี พระพยอมในฐานะตัวแทนมูลนิธิฯ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินดังกล่าว แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า ทางกรมที่ดินต้องมีส่วนในการรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ?

ต่อมาทางตัวแทนของกรมที่ดินได้ชี้แจงผ่านสื่อว่า กรณีที่กรมที่ดินออกโฉนดให้กับนางวันทนา เพราะตอนนั้น ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของนางวันทนา ที่ได้รับสิทธิ์ครอบครองปรปักษ์ กระทั่งต่อมา กรมที่ดินเพิกถอนสิทธิครอบครองที่ดินของนางวันทนา ก็เนื่องมาจากเป็นคำสั่งศาลเช่นกัน จึงส่งผลให้การซื้อที่ดินของมูลนิธิวัดสวนแก้ว กลายเป็นโมฆะ

สรุปก็คือ กรมที่ดินดำเนินการทุกอย่างไปตามคำสั่งศาล และทางหน่วยงานราชการ ไม่มีนโยบายการช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในลักษณะนี้

 

11 . ฝ่ายชนะคดี แจ้งให้มูลนิธิฯ ย้ายข้าวของออกจากที่ดิน

 

ผ่านไปกว่า 10 ปี คดีโฉนดถุงกล้วยแขก กลายเป็นข่าวดังอีกครั้ง เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2563 เมื่อพระพยอมออกมาเปิดเผยว่า ทางฝ่ายชนะคดี แจ้งให้มูลนิธิย้ายข้าวของออกจากพื้นที่ดังกล่าว ภายในสิ้นเดือนนี้

“ใช้คำแรงอยู่คำหนึ่ง ผมไม่อยากจะใช้ความรุนแรงกับพระพยอม ให้ไปบอกท่านด้วย

“เขาไม่ได้พูดกับอาตมาโดยตรง พอดีเด็กมันถ่ายคลิปไว้ ถ้าไม่เชื่อก็เอาคลิปมาฟัง เขาไปบอกคนที่นอนอยู่ที่นั่น”

ซึ่งด้วยถ้อยคำที่มีลักษณะข่มขู่ ทำให้สังคมรับไม่ได้ และเมื่อมีการไล่เรียงความเป็นมาของคดี ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า หลวงพ่อไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

12. ตัดสินใจสู้ต่อ

 

ตอนแรกทางมูลนิธิวัดสวนแก้ว เตรียมที่จะย้ายข้าวของออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพราะหลวงพ่อรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเต็มที

ต่อมา อาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี และ ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ได้เข้ามาช่วยเหลือมูลนิธิวัดสวนแก้ว ซึ่งได้แนะนำว่า อย่าเพิ่งย้ายข้าวของออกไป

โดยทั้งสองได้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ แล้วก็พบช่องทางการต่อสู้ในข้อกฎหมาย สำหรับกรณีที่ผู้ซื้อดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่ได้ความเสียหายในภายหลัง

อาจารย์ปรเมศวร์ได้ชี้แจงในวันแถลงข่าว ที่วัดสวนแก้ว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนว่า ทางมูลนิธิวัดสวนแก้ว มีโอกาสได้รับเงิน 10 ล้านบาทคืน เพราะเป็นการซื้ออย่างถูกต้อง ก่อนจะมีการยกเลิกกรรมสิทธิ์

ซึ่งประมวลกฎหมายฯ แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ได้บัญญัติว่า “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้า ซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

สรุปก็คือ ในกรณีที่มูลนิธิฯ ซื้อที่ดินมาอย่างถูกต้อง หากอีกฝ่ายต้องการให้มูลนิธิฯ ย้ายออก ก็ต้องจ่ายเงิน 10 ล้านบาท ให้กับทางมูลนิธิฯ ก่อน

ฉะนั้นถึงแม้ว่า วัดจะไม่ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่อย่างน้อยๆ ก็อาจจะได้รับเงิน 10 ล้านบาทคืน

ซึ่งที่ผ่านมาพระพยอมได้ย้ำเสมอว่า เงินจำนวนนี้เป็นปัจจัยที่เรี่ยไรมาจากเกจิอาจารย์มากมาย และประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์นำมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม จึงไม่ต้องการให้สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์

 

และทั้งหมดนี้ ก็คืออัปเดตล่าสุดของคดีโฉนดถุงกล้วยแขก ที่ตอนจบของเรื่องราว จะเป็นคำตอบให้กับสังคมไทยว่า “ความเป็นธรรม มีอยู่จริง หรือไม่ ?”

 

related