ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
วันแรงงานแห่งชาติ ในทุกปีแรงงาน ลูกจ้างในหลายประเทศจะได้หยุดพักในวันแรงงาน ของประเทศไทยนั้นตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เพื่อให้ทุกคนได้รำลึกถึงความสำคัญของแรงงาน ในประเทศเรามีแรงงานกว่า 38 ล้านคน เป็นกำลังสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน
ประวัติ วันแรงงานแห่งชาติ สากล
เมื่อ 130 กว่าปีก่อนขณะที่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรควบคู่กับแรงงานมนุษย์โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2432 แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงให้ทบทวนสิทธิของแรงงานด้านอื่นตามความเหมาะสม กลายเป็นการชุมนุมที่จัตุรัสเฮย์มาเก็ต
การปะทะระหว่างแรงงานและตำรวจส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ทั่วโลกยกย่องความกล้าหาญของการต่อรองครั้งนั้นระหว่างขบวนการแรงงานและรัฐ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล หรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day)
การปะทะกันระหว่างแรงงานกับรัฐเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อเจรจาต่อรองให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรม รวมถึงจัดสวัสดิการที่เหมาะสมด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของแรงงานขณะทำงาน ตัวอย่างประเทศที่หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อฉลองวันเมย์เดย์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน เยอรมนี, เดนมาร์ก, บัลแกเรีย, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ, อินเดีย, ศรีลังกา, เวียดนาม, ลาว, ไทย เป็นต้น
ประวัติ วันแรงงานแห่งชาติ แห่งชาติไทย
ในประเทศไทย วันแรงงานแห่งชาติ ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2499 และในปีพ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงาน
ในยุคแรกของวันแรงงานนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม และต้องใช้เวลากว่า 17 ปี จึงได้ประกาศให้เป็นวันหยุดแรงงาน ในปีพ.ศ. 2517
เนื่องจากวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ของทุกปี มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ใกล้เคียงกันคือวันพืชมงคล แรงงานที่มีครอบครัวเป็นเกษตรกรจึงมักใช้โอกาสนี้เดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อเริ่มฤดูกาลหว่านไถ ถือเป็นฤกษ์มงคลในการเพาะปลูกรอรับน้ำฝนในช่วงเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน
ข้อมูล th.wikipedia.org