โครงการ Organic Circle นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มจังหวัดยากจน นวัตกรรมนี้จะเข้าไปแก้ไขปัญหาพื้นที่ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
Organic Circle นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร หนึ่งในนวัตกรรมในโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ที่มีความตั้งใจแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่เป้าหมายกลุ่มจังหวัดยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการสรรค์สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์บริบทแต่ละพื้นที่
สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมพัฒนาและส่งต่อนวัตกรรมไปยังชุมชนในกลุ่มจังหวัดยากจน ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่
โครงการ Organic Circle เป็น นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร ที่นำมาแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ที่ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 6,000 คน
Organic Circle ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมระดับประเทศ ที่ใช้เทคโนโลยีหัวเชื้อจุลินทรีย์ในกระบวนการฟื้นฟูดินในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นเพื่อการควบคุมโรคพืช (biological control) ออกแบบแอปพลิเคชันควบคุมการตรวจวัดอุณหภูมิดิน อากาศ และความชื้น และการเหนี่ยวนำไฟฟ้าในดิน พร้อมบรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุผัก รักษาความสดของผักตั้งแต่แปลงผลิตจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงการเลี้ยงแกะอินทรีย์ เป็นการบูรณาการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตร แถมยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนต่อไปอีกด้วย
น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล อาจารย์สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมกับ วิสาหกิจหมู่ 9 ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โครงการ Organic Circle นี้คือ นวัตกรรมการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ครบวงจร ซึ่งในด้านการเลี้ยงสัตว์นั้น ได้ใช้แกะเป็นสัตว์เลี้ยง แล้วจะได้มูลแกะที่ได้มาทำเป็นปุ๋ยเข้าสู่ระบบของการผลิตผักอินทรีย์ ผักปลอดภัย ปลูกผักโดยใช้นวัตกรรมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์
ซึ่งนวัตกรรมแรกคือ จุลินทรีย์ปรับปรุงดิน จากคณะวิทยาศาสตร์ จุลินทรีย์ตัวนี้จุดเด่นอยู่ที่สามารถย่อยสลายสารเคมีตกค้างที่อยู่ในดินได้ ทำให้ดินปลอดภัยยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจุลินทรีย์ที่ได้ จะไปปลดปล่อยธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน ให้พืชสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งจะช่วยให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
เมื่อปลูกไปอาจมีโรคหรือแมลงเข้ามาเกี่ยวข้องอันถือเป็นเรื่องปกติของการปลูกพืช จึงต้องมีการควบคุมทางชีวภาพซึ่งมีทีมอาจารย์ที่คอยเก็บเชื้อเพื่อไปพิสูจน์ว่าเชื้อตัวไหนที่จะสามารถควบคุมโรคในพื้นที่ได้ โดยใช้เป็นจุลินทรีย์ในท้องถิ่นซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถใช้ควบคุมโรคได้ดี
เมื่อผลิตผักแล้ว จึงนำเข้าสู่กระบวนการส่งผักให้กับลูกค้า ถ้าต้องส่งผักจากน่านไปกรุงเทพซึ่งเป็นระยะทางไกล ปัญหาหนึ่งของการส่งผักไปทางไกลก็คือ ผักเหี่ยวและเสีย จึงต้องใช้เทคโนโลยี ถุงยืดอายุผัก เข้ามาช่วยให้สามารถส่งถึงมือผู้บริโภคได้ในขณะที่สภาพของพืชผักนั้นยังดีอยู่
ส่วนด้านการจัดการน้ำนั้น จะมีการนำระบบเซนเซอร์และแอปพลิเคชันมาช่วยในการเปิดปิดน้ำ ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำและกำลังจะติดตั้งในเร็วๆ นี้
การทำงานโครงการนี้ ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) ลงทุนจำนวนเงินคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่ลงทุนด้วยอีกประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ รวมมูลค่าโครงการประมาณหกแสนกว่าบาท
อาจารย์วินัย กล่าวเพิ่มเติมถึงความคาดหวังที่มีต่อโครงการนี้ว่า อยากให้เกษตรกรมีทางเลือกอื่นมากขึ้น จากเดิมที่ทำการเกษตรที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ใช้แรงงานตนเองเป็นหลัก และการใช้สารเคมีเยอะๆ ให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ มาช่วย เพราะแรงงานก็ขาดแคลน ส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้สูงอายุ ถ้าเทคโนโลยีตรงนี้จะมาช่วยเขาได้ ทำให้เขามีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นคือสิ่งที่ทีมงานคาดหวังอยากให้เกษตรกรได้รับ