21 มกราคม 2563 ศาลฎีกา นัดฟังคำตัดสิน ชี้ชะตา สรยุทธ โดยก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินจำคุกสรยุทธ 13 ปี 4 เดือน
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งคดีมหากาพย์ ที่ต่อสู้กันจนถึง 3 ศาล และต้องติดตามกันว่า ในชั้นของศาลฎีกา ซึ่งคำพิพากษาถือว่าเป็นที่สิ้นสุด คดียักยอกเงินโฆษณา อสมท จะมีบทสรุปอย่างไร ?
โดยจุดเริ่มต้นของคดี สืบเนื่องมาจาก สรยุทธได้ก่อตั้งบริษัทไร่ส้ม ขึ้นมา โดยตนเองรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ต่อมาได้ทำสัญญากับ อสมท ร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” แบ่งผลประโยชน์ในรูปแบบ “การแบ่งเวลาโฆษณา” โดยแต่ละฝ่ายจะได้โควต้าเวลาส่วนหนึ่ง นำไปขายเพื่อสร้างรายได้
สมมติ ได้โควต้าฝ่ายละ 5 นาที แต่หาก บ.ไร่ส้ม ขายเวลาโฆษณาได้มากกว่านั้น ก็ต้องจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลา ให้กับ อสมท ถือว่าเป็นข้อตกลงที่วินวินทั้ง 2 ฝ่าย เพราะ บ.ไร่ส้ม ไม่ต้องจ่ายค่าเวลาให้กับสถานี ส่วน อสมท ก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างผลิต รายได้ก็คือ ค่าโฆษณา ที่แต่ละฝ่ายต่างหามาได้
แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อปี 2549 หลังจากสหภาพแรงงาน อสมท ได้พบสิ่งผิดปกติ และสงสัยว่า บริษัทไร่ส้ม อาจมีการโฆษณาเกินเวลา แต่ไม่แจ้งให้ อสมท ทราบ และอาจได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ อสมท บางราย จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ทำการไต่สวน
ต่อมา วันที่ 20 กันยายน 2555 ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ก่อนส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด วันที่ 30 มกราคม 2558 อัยการฯ สั่งฟ้อง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ดังนี้
จำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ อสมท มีความผิดตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ถูกตัดสินจำคุก 30 ปี นำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ 20 ปี
จำเลยที่ 2 บริษัทไร่ส้ม มีความผิดฐานสนับสนุน สั่งปรับเงิน 1.2 แสนบาท ลดเหลือ 8 หมื่นบาท
จำเลยที่ 3 สรยุทธ สุทัศนะจินดา และจำเลยที่ 4 พนักงานบริษัทไร่ส้ม มีความผิดฐานสนับสนุน ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี นำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 13 ปี 4 เดือน
โดยหลักฐานสำคัญ คือ เช็คจำนวน 6 ฉบับ เป็นเงินรวมกว่า 7 แสนบาท ที่บริษัทไร่ส้ม สั่งจ่ายให้กับ จำเลยที่ 1 (เจ้าหน้าที่ อสมท)
และแม้ได้มีการชดใช้เงินกว่า 138 ล้านบาท ให้กับ อสมท ไปตั้งแต่ก่อนที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว จึงไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างได้ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว คนละ 2 ล้านบาท
วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น จำเลยยื่นฎีกาเพื่อสู้คดี แต่ศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว ทำให้สรยุทธต้องนอนคุกประมาณ 15 วัน ก่อนที่ศาลฎีกาจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ใช้หลักทรัพย์ประกันตัว คนละ 5 ล้านบาท
โดยศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 มกราคม 2563 ซึ่งการตัดสินของศาลฎีกา ถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุด ก็ต้องติดตามกันว่า คดีนี้จะมีบทสรุปอย่างไร ? และนอกจากคดียักยอกเงินโฆษณา อสมท ยังมีอีก 2 คดี ที่เกี่ยวพันกัน โดยคดีปลอมแปลงเอกสาร ศาลฎีกาได้ยกฟ้อง เพราะเหตุฟ้องซ้ำ ส่วนคดีที่บริษัทไร่ส้ม ยื่นฟ้อง อสมท ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้ อสมท ชนะคดี ไม่ต้องจ่ายเงินกว่า 55 ล้านบาท ให้กับบริษัทไร่ส้ม