รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ วิเคราะห์ ! จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หลังอิหร่านโจมตีฐานทัพสหรัฐ
จากเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั่วโลก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 ม.ค. 63 (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ ฐานทัพอากาศอิน อัล-อาซาด ทางตะวันตกของประเทศอิรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐ ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธจำนวนหลายสิบลูก โดยหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ประกาศว่าเป็นการล้างแค้นต่อการสังหาร นายพลกาซิม สุไลมานี ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดเบอร์สองของอิหร่าน
สปริงนิวส์ ได้ติดต่อสัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยอาจารย์ได้วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวดังต่อไปนี้
สปริงนิวส์ : จากกรณีที่อิหร่านยิงถล่มฐานทัพสหรัฐ อาจารย์ยังยืนยันไหมครับว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 จะไม่เกิดขึ้น ?
สงครามที่จำกัด หรือว่าโต้ตอบด้วยกำลังทหารในอิรัก หรือตะวันออกกลาง ก็เป็นสิ่งที่อิหร่านได้ประกาศไปแล้ว โดยที่ปรึกษาด้านการทหารของอิหร่าน ก็ได้ระบุชัดเจนว่า เขาจะปฏิบัติการทางด้านนี้แน่นอน โดยเฉพาะที่ค่ายทหารสหรัฐในหลายๆ ประเทศ ทั้งที่ในอิรัก , บาห์เรน , ซาอุฯ , เยเมน ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ อันนี้ก็เป็นปฏิบัติการโต้ตอบระลอกแรก ที่อิหร่านจะดำเนินการ
สปริงนิวส์ : หลังจากนี้ อาจารย์คิดว่าสหรัฐจะโต้ตอบอย่างไรบ้าง ?
ผมคิดว่า สหรัฐคงจะต้องป้องกันที่มั่นของตัวเองให้ดีมากขึ้น แล้วอาจจะใช้จังหวะที่ถูกโจมตี โจมตีกลับบางส่วน โดยเฉพาะการใช้ขีปนาวุธ อาวุธอัติโนมัติ ในรูปแบบที่สหรัฐเชี่ยวชาญ อันนี้เป็นมาตรการโต้ตอบในระยะสั้น ในพื้นที่เฉพาะ โดยเฉพาะบริเวณในพื้นที่ทหาร ที่อาจจะมีกำลังพลน้อย สหรัฐคงส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ขณะนี้ทหารสหรัฐที่อยู่ในพื้นที่อิรัก ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คงใกล้จำนวนหนึ่งหมื่นคนในไม่ช้านี้ รวมทั้งทางกองทัพเรือ ก็อาจเตรียมพร้อมเข้าไปเสริมมากขึ้น จากกองเรือที่มีอยู่แล้ว ที่ผ่านการควบคุมของเรือบรรทุกเครื่องบินแฮร์รี เอส. ทรูแมน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของผลที่จะตามมา
แต่ระยะกลาง อิหร่านเลือกตอบโต้ ด้วยปฏิบัติการผ่านเครือข่ายของอิหร่าน โดยเฉพาะกลุ่มตัวแทนของอิหร่านในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศสหรัฐเอง เรื่องนี้ก็จะป้องกันได้ง่ายกว่าการป้องกันฐานทัพ หรือที่มั่นทางการทหาร ซึ่งการป้องกันสถานที่ปฏิบัติการทางการทูต หรืออื่นๆ ป้องกันได้ง่ายกว่า อันนี้ก็จะเป็นปัญหาระยะกลางที่จะตามมา
ส่วนระยะยาว ถ้าอิหร่านมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าออกจากสนธิสัญญาไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์จริง แล้วเลือกปฏิบัติการเพิ่มสมรรถภาพของแร่ยูเรเนียม ทำให้สามารถนำแร่ยูเรเนียมมาประกอบเป็นระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ ปัญหาก็จะตามมาในภูมิภาคในตะวันออกกลาง อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ทุกคนกลัว ดังนั้นสหภาพยุโรป และพันธมิตรของสหรัฐ ต้องเน้นในเรื่องนี้ ให้อิหร่านอยู่ในข้อตกลงในเรื่องการไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ เป็นหลัก ส่วนในการตอบโต้ไปมาในพื้นที่ หลายฝ่ายคิดว่า มันจะเกิดขึ้นอยู่แล้วครับ
สปริงนิวส์ : อาจารย์คิดว่ามันจะยืดเยื้อหรือไม่ครับ ?
ปฏิบัติการโต้ตอบทางการทหาร อาจจะไม่ได้ยืดเยื้อนานนัก เพราะอิหร่านเองไม่ได้มีกองกำลังทางทหารมากมาย แต่ว่าอิหร่านมีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ซึ่งปฏิบัติการแตกต่างจากกองกำลังหลัก แล้วก็เป็นกองกำลังขนาดเล็ก เพราะฉะนั้นลักษณะของความยืดเยื้อตามแบบสงครามที่ใช้อาวุธหนัก อาจจะน้อย อาจยืดเยื้อไม่มาก ถึงจะยืดเยื้ออย่างไร ก็เทียบไม่ได้กับความยืดเยื้อในซีเรีย ความยืดเยื้อในอิรัก ในรอบหลายปี เราคงเห็นการโจมตีกันไปมาเป็นระยะๆ ส่วนปฏิบัติการใหม่ที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องใช้เวลา อิหร่านไม่ได้รีบร้อน และคงจะเตรียมตัว เพื่อที่จะให้มีการตอบโต้อย่างสาสม กับที่อิหร่านรู้สึกว่าถูกกระทำ
สปริงนิวส์ : ในกรณีนี้ อาจารย์มองว่า ไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ?
ในระยะสั้น ในเรื่อการแปรป่วนของเรื่องราคาพลังงาน เรื่องของตลาดหุ้น เรื่องของการท่องเที่ยว ก็จะเห็นผล โดยเฉพาะกระทบกับประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากตะวันออกกลาง แต่บางประเทศก็ได้รับผลบวก อย่าง สหรัฐ เช่น เรื่องหุ้นของบริษัทค้าอาวุธ ก็ดี หุ้นของบริษัทพลังงานของสหรัฐ ก็ดี ได้ประโยชน์จากการโจมตี
ของเราในระยะกลางก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเเรงเหวี่ยง จากทั้งสองประเทศ หรือจากเหตุการณ์ที่นำเราเข้าไปสู่วงจรของความขัดแย้ง ต้องระมัดระวังในแง่ของจุดยืนทางการทูต ระมัดระวังในเรื่องของการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วก็ดูแลรักษามาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดี ไม่ให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในบรรดา 2 ประเทศนี้ เข้าพื้นที่ประเทศไทย โจมตีกันไปมา อย่างที่เคยเกิดขึ้น
ส่วนในระยะยาว ควรเน้นเรื่องที่ประเทศไทยสนับสนุนสหประชาชาติ ให้หาทางออกที่ดี ในกรณีความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาครับ
สปริงนิวส์ : ในมุมมองของอาจารย์ คิดว่า เพราะเหตุใด ทรัมป์จึงจุดชนวนตรงนี้ขึ้นมา ?
ผมคิดว่ามีปัจจัยหลักๆ 3 ปัจจัย นโยบายของสหรัฐ ไม่ได้เปลี่ยนปลงนะครับ การปฏิบัติอาจจะเปลี่ยนแปลง ปัจจัยแรกก็คือ เขาต้องการลดอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง เนื่องจากอิหร่านมีสงครามกับอิรักหลายปีที่ผ่านมา แล้วก็การพัฒนาประเทศจนมีบทบาทในการต่างประเทศ บริเวณรอบๆ ภูมิภาค เพิ่มขึ้นมาก มีอิทธิพลสูง
เชื่อว่าอิทธิพลนี้นำไปสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐ นำไปสู่การโจมตี เพราะฉะนั้นก็ต้องการลดอิทธิพล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พันธมิตรสหรัฐ ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับปฏิบัติการทางการทหารหรือไม่ ก็ยังเห็นด้วยในประเด็นแรกว่า ต้องการลดอิทธิพลอิหร่านลง หลายประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้ง ซาอุฯ , อิสราเอล , เยเมน , ยูเออี กาตาร์ และคูเวต ก็เห็นด้วยกับสหรัฐ ต้องการลดอิทธิพลของอิหร่านลง
ปัจจัยที่ 2 สหรัฐต้องการตัดตอนปฏิบัติการพิเศษ ของกองกำลังที่อยู่ในกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม ที่สหรัฐเชื่อและก็กล่าวอ้างว่า กองกำลังนี้เตรียมการขั้นสุดท้าย เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่จะโจมตีสหรัฐ สหรัฐมีฐานทัพในตะวันออกกลางหลายสิบฐานทัพ ในอิรักเองก็หลายแห่ง สหรัฐเชื่อว่าการเดินทางไปของ ผบ.กองกำลังรบพิเศษในต่างประเทศ และก็ รอง ผบ.กองกำลังพีเอ็มยู ซึ่งควบคุมหน่วยปฏิบัติการอิสระหลายหน่วย ในตะวันออกกลาง เป็นการเตรียมการขั้นสุดท้าย ที่จะโจมตี
สหรัฐถือว่า มันเป็นสงคราามไปแล้ว และในพื้นที่นายพล 14 -15 คน ที่โดนสหรัฐโจมตี ก็เป็นพื้นที่รบอยู่แล้ว สหรัฐไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายระหว่างประเทศ อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่สองว่าต้องการตัดตอน ต้องการสกัดไม่ให้เกิดสงคราม หรือการโจมตีสหรัฐ ในช่วงต้นๆ ปีนี้นะครับ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่หลายฝ่ายยอมรับว่ามีความชอบธรรม แต่อีกหลายฝ่ายก็ตรวจสอบดูว่ามีน้ำหนักหรือไม่ รวมทั้งในรัฐสภาสหรัฐเอง
สุดท้ายก็แน่นอน โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ทางการเมืองก็คิดว่า มันเป็นเรื่องของการเลือกตั้ง มันเป็นเรื่องของการเพิ่มคะเเนนเสียง ของประธานาธิบดีสหรัฐ มันเป็นเรื่องการหาคะเนนเสียงกับชาวยิวในสหรัฐ และคนที่รักชาติ แล้วก็ได้ผลมาทุกครั้ง ไม่ว่าจะในสมัยเรแกน , คาร์เตอร์ , บุช , คลินตัน ฝ่านที่รณรงค์ต่อสู่กับศัตรูของสหรัฐในความคิดของบางคน ในตะวันออกกลาง ก็ได้รับคะแนนนิยมอยู่เสมอ
สปริงนิวส์ : สิ่งที่อาจารย์ต้องการฝากถึงผู้ที่ตื่นตระหนก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ?
ผมคิดว่า อันดับแรก ไม่ควรจะตื่นตะหนกนะครับ แต่ว่าคงจะห้ามอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ เพราะว่าภาพความรุนแรงมันปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ เพราะฉะนั้นก็คงต้องยอมรับนะครับว่า สงครามโลก มันคงไม่เกิดจริง ในโลกที่เป็นจริง แต่ว่าในโลกเสมือนจริง ความรุนแรงมันเกิดขึ้นแล้ว รู้สึกว่าเกิดสงครามใหญ่ไปแล้ว เพราะฉะนั้นคงจะต้องแยกแยะความรู้สึก
อันดับต่อมา ก็ต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร หาข้อเท็จจริง อย่างเช่นว่า อิหร่านคงไม่ตัดสินใจผิดพลาดเข้าสู่สงคราม เพราะว่ากองกำลังต่างกันเป็นร้อยเท่า คงไม่มีเหตุผลอะไรที่อิหร่านจะเอาไม่ซีกไปงัดไม่ซุง
และสุดท้ายนี้ ก็ต้องระมัดระวัง ต้องสนับสนุนให้รัฐบาลไทยอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นกลาง ไม่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ชักจูงให้เป็นพวก ในขณะเดียวกันก็ปกป้องดูแลสิ่งที่สำคัญในสถานที่ประกอบการที่สำคัญในประเทศ ไม่ให้ถูกโจมตีโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำกันไปอีกสักพักหนึ่ง จนกว่าวงจรความรุนแรงนี้จะจบไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Breaking News: เริ่มแล้ว! เผยภาพอิหร่านแก้แค้นยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐฯในอิรัก