ทำความรู้จักกับ "นายพลกาเซ็ม สุไลมานี" ผู้ทรงอิทธิพลในอิหร่าน ผู้ถูกเป็นเป้าสังหารจากคำสั่งของ "ทรัมป์" เมื่อวานนี้ ด้วยสาเหตุที่ว่า เขาคือศัตรูตัวฉกาจของ สหรัฐฯและพันธมิตร
จากกรณีที่ สุไลมานี พร้อมด้วย อาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลังเคลื่อนไหวประชาชน (ฮัชด์) ซึ่งเป็นเครือข่ายกองกำลังนักรบชีอะห์ในอิรัก ที่ฝักใฝ่อิหร่านถูกปลิดชีพเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (3 ม.ค.63) โดยขีปนาวุธรุมถล่มสนามบินนานาชาติในกรุงแบกแดดของอิรัก ขบวนรถคุ้มกันของกองกำลังฮัชด์อับ ชาบี ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านถูกโจมตี หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านประกาศว่า สุไลมานีถูกสหรัฐฯโจมตีอย่างทุกข์ทรมานที่สนามบินแบกแดดเมื่อช่วงเช้า
โดยวานนี้กองกำลังฮัชด์ยืนยันว่า สุไลมานี และ อาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส รองผู้บัญชาการฮัชด์ถูกสังหาร จากการโจมตีของสหรัฐที่พุ่งเป้าขบวนรถของเขาบนถนนในสนามบินนานาชาติแบกแดด
ส่วนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯแถลงว่า สุไลมานีกำลังพัฒนาแผนโจมตีนักการทูตและทหารอเมริกันในอิรักและทั่วตะวันออกกลาง สหรัฐฯจึงต้องใช้ปฏิบัติการป้องกันอย่างเด็ดขาด ปกป้องบุคลากรอเมริกันในต่างแดนด้วยการปลิดชีพกาเซ็ม โซไลมานี แต่แถลงการณ์ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าสังหารเขาอย่างไร
เหล่านักวิเคราะห์มองว่า การโจมตีครั้งนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ
"ทรัมป์เปลี่ยนกฎ เขาต้องการให้โซไลมานีถูกกำจัด"แรมซี มาร์ดินี นักวิจัยจากสถาบันสันติภาพสหรัฐให้ความเห็นด้านฟิลิป สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ กล่าวว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการกำจัดศัตรูระดับผู้นำที่เด็ดขาดที่สุดเท่าที่สหรัฐฯเคยทำ และอาจทำให้ปัญหาบานปลายออกไปมากกว่าปี 2554 ที่สหรัฐฯสังหารโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ และการสังหารอาบู บัคร์ อัล บากาดี ผู้นำกลุ่มรัฐอิสลามในปี 2562
นายพลสุไลมานีคนนี้คือใคร เหตุใดจึงถูก "โดนัลด์ ทรัมป์" หมายหัว
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นายพลสุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังนักรบคุดส์ ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษในต่างประเทศของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) ขึ้นตรงกับอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มีอิทธิพลต่อภูมิภาคตะวันออกกลางมาตั้งแต่ปี 2561 ในฐานะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงจัดการเจรจาระดับสูงก่อตั้งรัฐบาลอิรัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับชายผู้เป็นศูนย์กลางการเจรจาจัดสรรอำนาจในตะวันออกกลางมานานร่วม 20 ปี
สุไลมานีพยายามไปกรุงแบกแดดมาหลายครั้ง นับแต่ปี 2561 และเมื่อช่วงที่พรรคการเมืองพยายามตั้งรัฐบาลใหม่ นายพลผู้นี้ทำงานเงียบๆ แต่ภายหลังกลับกลายเป็นคนดังของอิหร่านและมีคนติดตามผ่านอินสตาแกรมเป็นจำนวนมาก
ชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเมื่อสุไลมานีถูกดันให้เป็นคนที่ต้องออกสื่อ บอกเล่าบทบาทของอิหร่านที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในซีเรียตั้งแต่ปี 2556 โซไลมานีปรากฏตัวอยู่ในภาพถ่ายกลางสมรภูมิ สารคดี ไม่เว้นแม้แต่ในมิวสิควีดิโอและภาพยนตร์แอนิเมชัน
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาเคยให้สัมภาษณ์ที่ไม่ค่อยทำบ่อยนักกับสถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่าน เล่าว่า เขาอยู่ในเลบานอนเพื่อดูแลสถานการณ์ช่วงสงครามระหว่างอิสราเอลกับเฮซบอลเลาะห์ เมื่อปี 2549
สุไลมานีคือสถาปนิกคนสำคัญในสายตาแฟนคลับและศัตรู เป็นผู้ออกแบบอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง นำทัพต่อกรกับกองกำลังญิฮัด ขยายบทบาททางการทูตของอิหร่านในอิรัก ซีเรีย และอื่น ๆ
"สำหรับชีอะห์ตะวันออกกลาง เขาคือเจมส์ บอนด์, เออร์วิน รอมเมล และเลดี้ กาก้า รวมกันอยู่ในคน ๆ เดียว สำหรับโลกตะวันตก เขาเป็นผู้ส่งออกการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน สนับสนุนผู้ก่อการร้าย ล้มล้างรัฐบาลโปรตะวันตก และทำสงครามของอิหร่านในต่างแดน"เคนเนธ พอลแลค นักวิเคราะห์อดีตซีไอเอ เคยเขียนบรรยายสรรพคุณของสุไลมานีไว้ในฐานะ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของนิตยสารไทม์ ประจำปี 2560ความโดดเด่นของนายพลผู้นี้ไม่ได้มีแค่การทหาร ในช่วงที่ประเทศกำลังระอุไปด้วยกระแสการประท้วงผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจ และทางสหรัฐฯก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดัน ทำให้ชาวอิหร่านจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้สุไลมานีลงเล่นการเมือง
แม้เจ้าตัวปฏิเสธข่าวลือที่ว่าวันหนึ่งเขาอาจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เขามีบทบาทสำคัญยิ่งในการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิรัก รวมถึงการเจรจาตั้งรัฐบาล สุไลมานีคือกลไกหลักกดดันให้ชาวเคิร์ดอิรักยกเลิกแผนเรียกร้องเอกราช หลังจากจัดลงประชามติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเดือน กันยายน 2560 อิทธิพลของสุไลมานี มีมาตั้งแต่ปี 2544 ที่สหรัฐฯรุกรานอัฟกานิสถาน ในขณะนั้น เขาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์แล้ว
เมื่อปี 2556 ไรอัน คร็อกเกอร์ อดีตทูตสหรัฐประจำอิรัก เผยกับสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษถึงสุไลมานี ว่านักการทูตชาวอิหร่านในอัฟกานิสถานของคร็อกเกอร์หลายคนบอกชัดว่า แม้พวกเขาต้องแจ้งข้อมูลให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ แต่สุดท้ายแล้วคนตัดสินใจก็คือนายพลสุไลมานี
ผู้นำชาติตะวันตกมองว่า สุไลมานีเป็นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับกลุ่มติดอาวุธ อาทิเฮซบอลเลาะห์ของเลบานอน และฮามาสปาเลสไตน์ เป็นไปด้วยดีมากยิ่งขึ้นและเขาอาจประสานรอยร้าวในสังคมอิหร่านที่แตกแยกกันในหลาย ๆ เรื่อง เช่น กฎการสวมฮิญาบอันเข้มงวด
"ถ้าเราใช้คำพวกนี้ตลอดเวลา ฮิญาบดี ฮิญาบเลว นักปฏิรูป พวกหัวอนุรักษ์ แล้วเราจะเหลือใคร พวกเขาทุกคนคือประชาชน ลูกทุกคนของพวกคุณนับถือศาสนาไม่ใช่หรือ แล้วทุกคนเหมือนกันมั้ย ไม่ แต่ทุกคนก็คือลูกของพ่อ"สุไลมานี กล่าวสุนทรพจน์ในงานวันมัสยิดโลก เมื่อปี 2560