อากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ส่งผลต่อพืชผลของเกษตรกร เพราะขาดเเหล่งน้ำดิบ ทำให้เสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะที่บริเวณ "ชายหาดบ้านเกาะสูบ" จ.ชุมพร ก็เต็มไปด้วยซากปลาทะเลที่น็อคน้ำตายเกลื่อนชายหาด
บริเวณชายหาดบ้านเกาะสูบ หรือ บ้านรัตนโกสัย หมู่ 5 ต.ปากตะโก อ.ทุ่งตะโก ต่างเต็มไปด้วยซากปลาทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะ "ปลาแป้น" ที่ลอยมาตายเกยตื้น จนขาวโพลนไปทั่วทั้งชายหาด เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวในวันนี้ พบว่า ขณะนี้ซากปลาได้ถูกทรายปิดทับไปเเล้วบางส่วน เเต่โดยรวมมีสภาพเน่าเเละส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วชายหาด
ด้าน ประมงจังหวัดชุมพร กล่าวว่า เกิดจากปรากฏการณ์ "น้ำแดง" เนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุ ขาดออกซิเจน ทั้งนี้ประมงอำเภอทุ่งตะโกประสานไปยังศูนย์ประมงทะเลที่บ้านสามเสียมเพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำทะเลอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ขณะเดียวกันปลาที่ตายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปลาแป้นซึ่งเป็นปลาที่อาศัยอยู่พื้นผิวน้ำ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นปีละ 1-2 ครั้งในพื้นที่จังหวัดชุมพร
ไม่ต่างกับที่ " อ่างเก็บน้ำไทยประจัน" ในอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี แหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค ขณะนี้ได้เกิดน้ำเน่าเสีย เนื่องจากอากาศร้อนจัด ส่งผลให้น้ำในอ่างซึ่งมีปริมาณน้อย เกิดความร้อนสะสม ขณะที่พื้นก้นอ่างเป็นดินเลนจึงเกิดแก๊ส ส่งผลให้ปลาน๊อกน้ำตายลอยเกลื่อน ซึ่งมีปลาหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงต้องเก็บซากปลาออกไปเพื่อไม่ให้น้ำเน่าเสียมากกว่าเดิม
นอกจากสัตว์น้ำเเล้ว พืชผักสวนครัวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยที่แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรผสมผสาน หรือ "ไร่ภูทองใบ" บ้านโคกแง้ หมู่ 5 ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นศูนย์เกษตรต้นแบบประจำตำบล และอยู่ในระยะผลักดันเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรเพื่อการท่องเที่ยวระดับอำเภอ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก พืชผลในไร่ชะงักการเจริญเติบโต และบางชนิดกำลังเหี่ยวเฉา เเละทยอยตายทุกวัน โดยเฉพาะผักสวนครัว และกล้วยหอมส้ม ที่เกษตรกรลงทุนซื้อหน่อพันธุ์มาเป็นจำนวนมาก จึงอยากวอนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือ
ส่วนที่ จังหวัดเชียงใหม่ นายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และ ตัวแทนบริษัทประกันภัย ร่วมกันจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน ในโครงการ" ประกันภัยลำไยจากภัยแล้ง " ให้กับเกษตรกรชาวสวนที่ทำประกันภัยแล้งประจำปี 2562 โดยมีเกษตรกรชาวสวนลำไยได้รับเงินทดแทนจาก 19 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้งต่อเนื่องเกินดัชนีฝนแล้ง จำนวน 584 ราย รวมวงเงินกว่า 914,700 บาท ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์
สำหรับปีการผลิต 2562 ถือว่าเป็นปีแรกที่ ธ.ก.ส.เปิดให้เกษตรกรทำประกันภัยฝนแล้ง โดยจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศและของโลก มีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยให้ สมัครเข้าร่วมโครงการถึง 1,052 ราย รวมวงเงินประกันกว่า 18 ล้านบาท โดยจะใช้ค่าดัชนีฝนแล้งที่ตรวจวัดด้วยดาวเทียมเป็นเกณฑ์การประเมินความเสียหาย โดยมีระยะเวลาในการวัดปริมาณน้ำฝนหรือระยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562 รวม 61 วัน
ซึ่งเกษตรกรได้รับชดเชยในอัตราร้อยละ 9 ของวงเงินที่เอาประกันภัย ส่วนกรณีภัยแล้งรุนแรงจะได้รับชดเชยร้อยละ 12 ของวงเงินในส่วนที่ของเอาประกันภัย รวมอัตราค่าชดเชยไม่เกินร้อยละ 21 หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ บอกว่า ปีนี้แล้งมาก ไม่คิดว่าจะประสบภัยแล้งขนาดนี้ แต่พอได้ทำประกันภัยถือเป็นเรื่องที่ดี ช่วยบรรเทาความเสียหายได้ ส่วนหนึ่ง