ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกเกณฑ์คุมสินเชื่อปล่อยกู้บ้าน หลังที่ 2 และบ้านที่มีราคาเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ สามารถหาซื้อบ้านได้ในราคาเหมาะสม
บ้านในกลุ่มดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอให้ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อยร้อยละ 20% หรือคิดเป็นสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่ร้อยละ 80 จากปัจจุบันที่กำหนดเงินดาวน์ไว้เพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น การปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยครั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน ไม่เอื้อการเก็งกำไร ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ สามารถซื้อบ้านได้ในราคาเหมาะสม คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีหน้าโดยใช้เฉพาะกับการขอกู้ครั้งใหม่ และไม่มีผลกระทบสำหรับการซื้อบ้านหลักแรก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ บอกว่ามาตรการที่ออกมาก็เป็นหน้าที่ที่แบงค์ชาติต้องดูแล เป็นการดีที่ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง แต่ก็ต้องเอื้อให้คนมีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่เป็นของตัวเองได้ด้วย
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ มองว่า การควบคุมสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 หลังที่3 ข้อกำหนดที่จะออกมาต้องชัดเจนว่าส่วนที่มีการเก็งกำไรนั้นอยู่ตรงไหนจึงจะสามารถควบคุมได้ถูกจุด ธอส.ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง บ้านหลังแรกส่วนใหญ่จะเป็นทาวเฮ้าส์ หลังจากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีหลังที่สองตามมา โดยหลังแรกก็จะให้พ่อแม่อยู่แทน ทั้งหมดนี้ถือเป็นการกู้เพื่ออยู่อาศัยทั้งสิ้น
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินให้ความเห็นว่า มาตรการครั้งนี้ไม่ใช่การควบคุมฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการควบคุมการเก็งกำไรโดยเฉพาะคอนโดมีเนียม เพราะในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โครงการบ้านเกิดใหม่ชะลอตัวลง สต๊อกคงค้างก็ลดลง จึงตรงข้ามกับลักษณะฟองสบู่ และออมสินก็ปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่มีรายได้น้อยหลังละไม่เกินประมาณ 2 ล้านบาท