svasdssvasds

ผู้สูงวัยไทย “สมองเสื่อม” มากถึงกว่า 8 แสนคน

ผู้สูงวัยไทย “สมองเสื่อม” มากถึงกว่า 8 แสนคน

กรมสุขภาพจิต เผยขณะนี้พบผูสูงวัยไทยสมองเสื่อมกันมากถึง 8 แสนกว่าคน พบได้ทุกๆ 8 คนในผู้สูงอายุ 100 คน ภัยที่ตามมาติดๆคือมีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจผิดปกติสูงสุด

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย สถิติของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9.9 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศที่มี 65.9 ล้านคน

 

ปัญหาที่ตามมาและมักพบในสังคมผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆคือ ภาวะสมองเสื่อม (dementia) โดยผู้ป่วยจะมีการเสื่อมถอยความสามารถของสมองในหลายๆด้าน เช่น สูญเสียความจำ สมาธิ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำเรื่องที่เป็นปัจจุบันไม่ได้ มีอาการหลงลืม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขโดยการตรวจร่างกายครั้งล่าสุดในปี 2557 พบผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 8.1 คาดว่าขณะนี้มีประมาณ 8 แสนกว่าคนทั่วประเทศ พบในผู้หญิงมากว่าชาย อายุยิ่งมากยิ่งพบมาก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อมนอกจากเป็นเรื่องของความจำแล้ว ยังพบว่าร้อยละ 90 หรือประมาณ 7 แสนกว่าคนมีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจร่วมด้วย

ทางด้านนายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ต่อปีมีผู้ป่วยสมองเสื่อมเข้ารักษาที่โรงพยาบาลฯประมาณ 500 คน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าเกือบทุกคนจะมีอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและจิตใจอย่างน้อย 1 อาการร่วมด้วย ที่พบบ่อย 9 อาการ ได้แก่

1.เฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว พบได้ร้อยละ 70

2.ภาวะซึมเศร้าพบได้ร้อยละ 40-50

3.ปัญหาด้านการกินร้อยละ 40-50

4.ปัญหาด้านการนอนร้อยละ 30-50

5.อารมณ์หงุดหงิด โกรธง่ายร้อยละ 40

6.อาการหลงผิด ร้อยละ 30-40

7.ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจพฤติกรรมได้ ร้อยละ 30-40

8.มีพฤติกรรมแปลกๆทำอะไรซ้ำๆเช่นผุดลุกผุดนั่ง สะสมของในบ้าน พบร้อยละ 30-40

9.หูแว่ว ประสาทหลอน เช่นเห็นผีพบได้ร้อยละ 20-30

หากประชาชนพบผู้ป่วยสมองเสื่อมในบ้านมีอาการที่กล่าวมา ควรพาไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม ขอแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้

1. ควรทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมให้ดีเพื่อที่จะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

2.แก้ไขอาการและพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากที่สุดก่อน เนื่องจากการแก้ปัญหาหลายอย่างพร้อมกันอาจทำได้ยาก 3.พยายามทำจิตใจให้สดใส และพักผ่อนให้เพียงพอ

4. อย่ายึดติดกับความถูกต้องทั้งหมด ควรยืดหยุ่น เช่นถ้าผู้สูงอายุต้องการจะสวมหมวกเวลานอน ก็ไม่ควรห้าม เนื่องจากไม่ได้เป็นสิ่งที่อันตราย

5. พยายามจัดรูปแบบการดูแลที่สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพื่อให้ผู้สูงวัยเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย

6. พยายามพูดสื่อสารกับผู้สูงวัยเป็นประจำ อธิบายสั้นๆว่ากำลังทำอะไรทีละขั้นตอน

7. มีรูปของผู้ป่วยที่ถ่ายไว้ล่าสุดเพื่อใช้ตามกรณีผู้ป่วยสูญหาย ควรจัดทำสร้อยคอที่มีป้ายถาวรบอกว่าเป็นผู้สูงวัยมีปัญหาด้านความจำ และระบุหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ

8. พยายามให้ผู้สูงวัยได้ทำกิจกรรมต่างๆบ้าง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและ ให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมายและมีส่วนร่วมในครอบครัว

related