กทม.เพิ่มกำลังสูบบ่อสูบน้ำเพชรบุรี เร่งระบายน้ำใจกลางเมือง คาดว่าโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย จะแล้วเสร็จในเดือนส.ค.61
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย เขตราชเทวี เพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากลักษณะทางกายภาพบริเวณถนนเพชรบุรีและถนนพญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่กลางใจเมือง จะมีลักษณะต่ำเป็นแอ่งกระทะประกอบกับมีน้ำไหลบ่ามาจากสะพานข้ามแยกและน้ำจากระบบระบายน้ำของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขังและจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ได้แก่ ถนนเพชรบุรีแยกมิตรสัมพันธ์ และถนนพญาไทบริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ ที่ผ่านมาสำนักการระบายน้ำได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณถนนเพชรบุรี กำลังสูบ 3 ลบ.ม./วินาที ส่วนถนนพญาไทติดตั้งเครื่องสูบน้ำกำลังสูบ 1 ลบ.ม./วินาที และ 1.5 ลบ.ม./วินาที ซึ่งการระบายน้ำบริเวณดังกล่าวจะระบายลงคลองแสนแสบและไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย เป็นบ่อสูบน้ำชั่วคราวได้ใช้งานมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ปัจจุบันมีสภาพชำรุดและช่องทางน้ำเข้าบ่อสูบมีขนาดเล็ก รวมทั้งมีบ่อน้ำเสียกีดขวางทางเข้า ทำให้น้ำไม่สามารถระบายเข้าบ่อสูบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับปัจจุบันกำลังสูบไม่เพียงพอ
สำนักการระบายน้ำจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย เพื่อให้มีสภาพถาวรแข็งแรงและเพิ่มกำลังสูบจาก 6 ลบ.ม./วินาที เป็นกำลังสูบ 8 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อสูบน้ำ จำนวน 1 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ขนาด 1.00 ลบ.ม./วินาที จำนวน 2 ชุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ขนาด 2.00 ลบ.ม./วินาที จำนวน 3 ชุด ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า ขนาด 630 KVA จำนวน 1 ชุด ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 500 KVA จำนวน 1 ชุด อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซียแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากข้างสถานทูตอินโดนีเซียมีคลองเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ ทำให้สามารถช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ไปสู่คลองแสนแสบได้เร็วขึ้น คาดว่าโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย จะแล้วเสร็จในเดือนส.ค.61
“สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในแต่ละพื้นที่ กรุงเทพมหานครจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่เหมือนกัน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่นั้นๆเป็นหลัก บางพื้นที่จะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ บางพื้นที่จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือก่อสร้างบ่อสูบน้ำเพิ่มเติม บางพื้นที่จะก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking)บางพื้นที่จะพัฒนาบึงน้ำเป็นแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน รวมทั้งการขุดลอกคูคลองเปิดทางน้ำไหล ลอกทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ตลอดจนการเสริมผิวการจราจรในพื้นที่ลุ่มต่ำมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาความสะอาดแม่น้ำคูคลองและท่อระบายน้ำ” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวในตอนท้าย