เป็นความสับสนและเข้าใจไม่ตรงกัน เรื่องที่มีการทำประชาสัมพันธ์ว่า “บุหรี่ไฟฟ้า ไม่อันตรายหรือเป็นพิษน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป หรือสูบแล้วทำให้เลิกติดบุหรี่ธรรมดา” ถูกตั้งเป็นโจทย์ ในเวทีเสวนา หัวข้อ “แบนบุหรี่ไฟฟ้าประเทศไทยได้หรือเสีย” เมื่อเร็วๆ นี้ และมาถกเถียงกันต่อในพื้นที่ออนไลน์?
พูดถึงบุหรี่ เรื่องนี้ต้อง นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งคร่ำหวอดกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ตอบว่า ตนได้รับทราบ มีการตั้งประเด็นของบริษัทบุหรี่ เพื่อจะเอื้อให้กับบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบุว่า ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% แต่เป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์กัน โดยเฉพาะบอกว่า แม้นิโคตินจะเสพติด แต่ไม่มีความเสี่ยงอื่นที่สำคัญ อันนี้เป็นเรื่องเท็จ เพราะนิโคตินเป็นสารพิษมีผลต่อการเจริญพันธุ์ แม้ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่นิโคตินเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และขัดขวางการตายของเซลล์ปกติ นิโคตินยังเป็นตัวเสริมให้เกิดการสร้างเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้องอกที่กำลังเติบโตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เนื้อมะเร็งโตเร็วด้วย ทั้งยังทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็วขึ้น จะทำให้อาการโรคปลอดและโรคอื่นๆ แย่ลงไปอีก
มีการศึกษาของศาสตราจารย์แสตนตัน กล๊านซ์ จากศูนย์วิจัยและควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ระบุว่า อันตรายที่สำคัญจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเสี่ยงเกิดโรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ธรรมดา เกิดจากโรคปอด โรคหลอดเลือดและหัวใจ
ส่วนประเด็นที่บริษัทบุหรี่ พยายามเผยแพร่ว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ทำให้คนที่สูบเลิกแต่ก็ทำให้สูบบุหรี่ลดลง ซึ่งลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคด้วยนั้น นพ.ประกิต กล่าวว่า ข้ออ้างนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน ยิ่งไปกว่านั้นการสูบบุหรี่ระดับน้อยๆ ก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงน้อยลง เพราะสูบเพียงวันละไม่กี่มวนก็มีอันตรายเท่ากับสูบบุหรี่วันละ 20 มวน
ขณะที่ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับรายได้ภาษีแล้ว นักวิชาการประมาณความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากการเกิดโรคสาเหตุจากบุหรี่ ปี2558 มีมูลค่าความสูงถึง 74.9 พันล้านบาท คิดเป็น 0.78 ของ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และประมาณการค่าสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควรเท่ากับ 61,219 ล้าน
นพ.ประกิต ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่น่าจะยังไม่รู้ว่าพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ห้ามบริษัทบุหรี่หรือผู้เกี่ยวข้อง ให้การอุปถัมภ์ สนับสนุน ใครๆ หรือ องค์กร ซึ่งรวมถึงการวิจัย จัดกิจกรรม เหมือนกับที่บางมหาวิทยาลัย เคยรับทุนวิจัย หลายล้านบาท เพื่อศึกษา วิจัย ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเมื่อสองปีก่อน แต่ทุนวิจัยแบบนี้ บริษัทบุหรี่ให้ไม่ได้แล้ว ตามกฎหมายฉบับใหม่
ในระดับโลก บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ประกาศตั้ง Foundation for a Smoke-Free World โดยจะให้เงิน ปีละ 80 ล้านดอลลาร์ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี เพื่อสนับสนุนการวิจัย และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ "ที่ปลอดภัยกว่า" ซึ่งก็คือ บุหรี่ไฟฟ้าของบริษัท
องค์การอนามัยโลกจึงออกแถลงการณ์ให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการ. รู้ถึงเจตนาที่แท้จริงของบริษัทบุหรี่ ไม่ควรไปร่วมสังฆกรรม กับกองทุนนี้ เพราะขัดกับข้อกำหนด มาตรา 5.3 ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ