เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยิน คำว่า “แพะรับบาป” ที่หมายถึงคนที่ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ถูกจับยัดข้อหา เพื่อรับโทษแทนคนอื่น ซึ่งในที่นี้มีทั้งแบบตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ แต่ไม่ว่าจะแบบไหน คนที่ต้องกลายเป็นแพะ ในก็ต้องตกนรกทั้งเป็น จากบาปที่ตัวเองไม่ได้ก่อ
สำนวนแพะรับบาป มีที่มาจากคำภาษาอังกฤษอย่าง “Scapegoat” ซึ่งคำนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย “วิลเลียม ทินเดล (William Tyndale) ” นักวิชาการด้านพระคัมภีร์ไบเบิล ขณะที่เขากำลังแปลพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูทั้งเล่มให้เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก ในปี 1530
ส่วนคำอธิบายที่มาของคำศัพท์นี้ ที่มาจากประเพณีโบราณของชาวยิว ซึ่งเรียกว่าประเพณี ยมคิปปูร์ (Yom Kippur) ซึ่งเป็นประเพณีล้างบาปประจำปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อชำระล้างความผิดบาป และขจัดสิ่งชั่วร้ายที่พวกเขากระทำมาทั้งปีออกไป โดยประเพณีนี้ มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาเดิม
ส่วนสำคัญของประเพณีนี้ คือการฆ่าแพะสองตัวในพิธีกรรม ตัวหนึ่งสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า และตัวที่สองสำหรับ “อาซาเซล (Azazel) ” ซึ่งเป็นชื่อของทูตสวรรค์ที่ตกสู่บาป และทำให้มนุษย์เข้าถึงความรู้ต้องห้าม โดยแพะที่ถวายแด่อาซาเซล จะถูกฆ่าด้วยการโยนลงจากหน้าผา ซึ่งการฆ่าแพะทั้งสองนี้ ชาวยิวเชื่อว่าสามารถช่วยให้พวกเขาชดใช้ความผิดบาปที่ก่อขึ้นได้
ทว่าในบางชุมชน ก็ฆ่าแค่แพะตัวเดียวเพื่อถวายแด่พระเจ้า ส่วนอีกตัวจะถูกนำไปปล่อยในที่ห่างไกล และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่ชุมชนอีก เพราะแพะตัวนั้นเป็นเครื่องหมายของการแบกรับบาปของชาวยิวทุกคน จึงต้องนำบาปนั้นออกไปให้ไกล ซึ่งวิลเลียมผู้แปล คัมภีร์ไบเบิล เรียกมันว่า “Escapegoat” ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็น Scapegoat หรือที่เรารู้จักกันในสำนวน “แพะรับบาป” นั่นเอง
ปัจจุบันประเพณียมคิปปูร์ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงคือ นิสัยในการกล่าวโทษผู้อื่นของมนุษย์ ทำให้ แพะรับบาปจึงยังมีให้เห็นอยู่ในทุกวัฒนธรรม และทุกประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง