Silver Economy คือคำที่หมายถึง เศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือ เศรษฐกิจสีดอกเลา เพราะคนกลุ่มนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ บวกกับการปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีให้ทันยุค ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่ทำธุรกิจเข้าตา ปักหมุดถูกทางก็รอรับทรัพย์ได้
ไม่ว่าจะอยู่ในเจเนอเรชันไหน การที่เราโตขึ้น อายุที่เพิ่มขึ้นอาจพาไปเราอยู่ในจุดที่ผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยยืนอยู่ในตอนนี้ แต่อย่ากังวลไป ทุกอย่างเป็นเพียงตัวเลข เพราะยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาขึ้น เวลานั้น...เราสามารถมีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็เป็นได้ ถ้าเราเลือกวิธีที่จะปฏิบัติต่อตัวเองได้อย่างเหมาะสมและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกหรือเพิ่มสีสันให้ชีวิต
Silver Economy คืออะไร
Silver Economy เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย โดยใช้ สีเงิน หรือ สีดอกเลา แทน ผมขาว ถ้าเรียกแบบตรงตามศัพท์ คือ เศรษฐกิจสีดอกเลา แต่ถ้าเรียกกันโดยทั่วไป คือ เศรษฐกิจผู้สูงวัย และนอกจากใช้ในทางเศรษฐกิจแล้ว ยังใช้เรียกเจเนอเรชันด้วย กล่าวคือ Silver Generation
พูดเรื่องสูงวัย ญี่ปุ่น เป็นชาติแรกในโลกที่ก้าวสู่ สังคมสูงวัย แต่ถ้าพิจารณาในแง่ประชากรศาสตร์ จีน เป็นประเทศที่น่าจับตาอย่างมาก ด้วยจำนวนประชากรและกำลังซื้อมหาศาล
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ในปี 2019 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในจีน มีจำนวนถึง 254 ล้านคน คิดเป็น 18.1% ของประชากรทั้งหมด และเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง กอปรกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น คาดว่าผู้สูงอายุในจีนจะสูงถึง 330 ล้านคน ภายในปี 2030 คิดเป็น 25.5% ของประชากรทั้งหมด
รายงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเงินของจีน (China Report on the Development of the Silver Industry) ระบุว่า ศักยภาพการใช้จ่ายของประชากรสูงอายุของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 106 ล้านล้านหยวน (หรือราว 560,425 พันล้านบาท) ภายในปี 2050 คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศ
นั่นหมายความว่า จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
.............................................................................................
รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สูงวัยในแง่มุมอื่นๆ
.............................................................................................
โอกาสทางเศรษฐกิจจากผู้สูงวัยอยู่ตรงไหน
เรื่องหนึ่งที่คนไทยอาจคาดไม่ถึง คือ 75.8% ของประชากรสูงอายุในจีน (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อรังอย่างน้อยหนึ่งโรค ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ไม่ว่าจะเป็น
อาหารเพื่อสุขภาพจึงมีบทบาทสำคัญในตลาดอาหารผู้สูงอายุของจีน เช่น แบรนด์นมผงระดับไฮเอนด์ โยวรุ่ย (Yourui/悠瑞) ที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 4 รายการ สำหรับวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่มีโรคทางเดินอาหาร กระดูก และภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
ประชากรสูงอายุของจีนในกลุ่ม Silver-haired group ที่ WHO ระบุไว้ คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี ซึ่งมีอายุขัยเฉลี่ย 68.7 ปี แสดงว่า คนกลุ่มนี้มีสุขภาพแข็งแรงและพึ่งพาตนเองได้ เรียกว่า Active Seniors โดยมีอยู่ 150 ล้านคน และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองชั้นหนึ่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เทียนจิน ฉงชิ่ง และกวางโจว
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด ผู้สูงอายุชาวจีนก็ขยายกำลังซื้อจากตลาดออฟไลน์สู่โลกออนไลน์ โดยมีมากกว่า 40% ที่ใช้แอป เถาเป่า (Taobao) และ อาลีเพย์ (Alipay) ซื้อสินค้า เช่น อาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน การเดินทาง ประกันภัย ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และโดยเฉลี่ยแล้ว กำลังซื้อจากกลุ่มผู้บริโภคสีดอกเลาชาวจีนใช้จ่ายกับการซื้อสินค้าออนไลน์เดือนละ 1,000 หยวน (หรือราว 5,000 บาท)
ผลกระทบจากการจำกัดจำนวนเด็กแรกเกิดที่ผ่านมา (มีลูกได้คนเดียว) ส่งผลให้ชาวจีนต้องเตรียมแบกรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยคาดว่าภายในสามทศวรรษข้างหน้า วัยทำงานที่ต้องเสียภาษี 1 คน อาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ 2 คน ภายในปี 2050
ปัจจุบันผู้สูงอายุในจีนส่วนใหญ่เตรียมเกษียณอายุด้วย การซื้อบ้าน การออม และแนวทางอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีทางออกหนึ่งที่งานวิจัย Future Development of Chinese Silver Economy: Comparison with US and China’s Senior Industries, Atlantis Press ระบุไว้ว่าควรเร่งดำเนินการคือ การประกันบำเหน็จบำนาญของนายจ้าง ซึ่งไม่เพียงแต่ลดภาระของรัฐบาล แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพโดยรวมของเงินบำนาญ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินของจีนได้
โดยพนักงานสามารถลงทุนก่อนหักภาษี ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่มีให้เลือก เช่น กองทุนรวม พันธบัตร สินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่นๆ ทั้งนี้ การประกันบำเหน็จบำนาญของนายจ้างผ่านการพิสูจน์ว่า ทำได้ เป็นไปได้ หากดูจากระบบบำเหน็จบำนาญที่ใช้กันในอเมริกา
จากที่ผู้สูงอายุชาวจีนมีความสุขและความพึงพอใจใน ความสำเร็จและความสุขของลูกหลาน และพร้อมลงทุนเวลากับเงินให้แก่ลูกๆ หลานๆ แต่ตอนนี้มุมมองของคนจีนเปลี่ยนไปแล้ว ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและการเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางสังคม ทำให้คนจีนหันเหความสนใจจากครอบครัวมาที่ตัวเอง และคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น
ความต้องการด้าน ความบันเทิง จึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์ ธุรกิจเพลง ซึ่งโตในประเทศอย่างรวดเร็ว และกระโดดออกมาทำตลาดในต่างประเทศ เช่น แพลตฟอร์ม วีทีวี (WeTV), อ้ายฉีอี้ (iQiyi) ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ยิ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มและผู้คนจำนวนมากเข้าสู่โลกดิจิทัล อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ประชากรสูงอายุของจีนจะเกิน 500 ล้านคน และเนื่องจากเป็นรุ่นที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเชี่ยวชาญ เราจะได้เห็นการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้น
อย่าลืมว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้เสียภาษีมาก่อน เมื่อคนกลุ่มนี้มีเวลา มีกำลังทรัพย์ ก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้ หรืออาจทำงานอาสาสมัคร นำประสบการณ์จากการทำงานมาสร้างการเติบโตให้สังคมและประเทศได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม นอกจากตัวบุคคลที่ต้องเตรียมความพร้อมใช้ชีวิตหลังเกษียณในระดับปัจเจกแล้ว สังคม องค์กร ตลอดจนรัฐบาล ควรตระหนักและตระเตรียมแผนหรือสวัสดิการให้ประชากรกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม เพราะหากขาดการเตรียมความพร้อม อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับชีวิตหลังเกษียณเป็นโดมิโน่ มากกว่าที่จะช่วยขยายโอกาสและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ
.............................................................................................
ที่มา
.............................................................................................