SHORT CUT
ผู้ผลิตญี่ปุ่นปฏิวัติวงการพาวเวอร์แบงก์ด้วย “Na Plus” ที่ใชช้แบตเตอรี่โซเดียมไอออนเครื่องแรกของโลก ใช้งานได้ในอุณหภูมิสุดขั้วและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีใหม่ที่อาจเปลี่ยนอนาคตของพลังงานพกพามาถึงแล้ว หลังจากผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมอย่าง Elecom ประกาศเปิดตัว “Na Plus” พาวเวอร์แบงก์รุ่นแรกที่ใช้แบตเตอรี่โซเดียมไอออนแทนแบตเตอรี่ลิเธียมไออน ตามการรายงานของ Notebookcheck โดยนอกจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว Na Plus ซึ่งมีความจุ 9,000mAh ยังสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิรุนแรงสุดขั้ว ด้วยความเสี่ยงต่อการเกิดความร้อนสูงเกินไปที่น้อยลง
Elecom อ้างว่า พาวเวอร์แบงก์รุ่นนี้สามารถชาร์จซ้ำได้เกือบ 5,000 รอบ แม้จะชาร์จใหม่ทุกวันก็ตาม และหลังจากผ่านไป 13 ปีพาวเวอร์แบงก์นี้ยังน่าจะสามารถใช้งานได้อยู่
เทคโนโลยีแบตเตอรี่โซเดียมไอออนยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และกำลังการผลิตก็ยังไม่ถึงระดับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ดังนั้น แม้ว่าจะสามารถหาซื้อหาซื้อพาวเวอร์แบงค์ลิเธียมไอออนขนาด 10,000mAh จากแบรนด์อย่าง Anker ได้ในราคาต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ แต่พาวเวอร์แบงก์ Na Plus ที่เปิดตัวในญี่ปุ่น ซึ่งมีให้เลือก 2 สี คือ สีดำและสีเทาอ่อน มาพร้อมกับสนนราคาที่ 9,980 เยน หรือประมาณ 67 ดอลลาร์ โดย Elecom ยังไม่ได้ประกาศแผนการวางจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ
พาวเวอร์แบงก์ Na Plus รองรับกำลังจ่ายไฟสูงสุดที่ 45W ผ่านพอร์ต USB-C จำนวน 1 ช่อง หรือ 18W ผ่านพอร์ต USB-A อีก 1 ช่อง อีกทั้งยังมีไฟ LED แสดงระดับพลังงานที่เหลืออยู่ และใช้เวลาชาร์จประมาณ 2 ชั่วโมงต่อการชาร์จจนเต็ม 1 ครั้ง
ในแง่ของประสิทธิภาพนั้น Na Plus อาจไม่ใช่พาวเวอร์แบงก์ทรงพลังสูงสุดที่สามารถหาซื้อได้ แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นสุดคือสิ่งที่อยู่ภายในพาวเวอร์แบงก์ต่างหาก เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะครองตลาดมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 แต่ลิเธียมไม่ใช่ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด และกระบวนการขุดลิเธียม รวมถึง โลหะอื่น ๆ ที่ใช้ในแบตเตอรี่ เช่น โคบอลต์และนิกเกิล ล้วนเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานสูงและอาจก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางน้ำและมลพิศทางดินต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น รวมถึง ยังปลอดภัยกว่า
ในขณะที่แบตเตอรี่โซเดียมไอออน ทำงานคล้ายกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แต่ใช้โซเดียมแทนลิเธียม ซึ่งโซเดียมมีปริมาณมากกว่าและผลิตได้ง่ายกว่ามาก นอกจากนี้แบตเตอรี่โซเดียมไอออนยังมีความปลอดภัยในการใช้งานมากกว่าด้วย โดย Elecom ระบุว่า Na Plus สามารถใช้งานได้ในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ -30 ถึง 122 องศาฟาเรนไฮต์ (-34.4 ถึง 50 องศาเซลเซียส) และมีความเสี่ยงต่อไฟไหม้ที่เกิดจากความร้อนสูงเกินไปและความร้อนรั่วไหลน้อยกว่า
แม้ว่าราคาของเทคโนโลยีนี้อาจจะลดลงในอนาคตเมื่อห่วงโซ่อุปทานขยายตัวและการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ข้อเสียอีกอย่างที่อาจไม่ได้รับการแก้ไขได้ง่าย ๆ ก็คือ ขนาดที่ใหญ่ของแบตเตอรี่โซเดียมไอออน เพราะโดยทั่วไปแล้ว แบตเตอรี่ประเภทนี้จะมีความหนาแน่นของพลังงานที่ต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีขนาดที่ใหญ่และหนักกว่าเพื่อจัดเก็บพลังงานในปริมาณที่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น พาวเวอร์แบงก์แบตเตอรี่ลิเธียม 10,000mAh จาก Anker มีน้ำหนักประมาณ 213 กรัม ในขณะที่ Na Plus ซึ่งมีขนาด 9,000mAh กลับหนักถึง 350 กรัมและมีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก
ดังนั้น พาวเวอร์แบงก์แบตเตอรี่โซเดียมไอออนอาจเหมาะสำหรับการใช้งานที่ขนาดไม่ใช่ข้อกังวลหลัก เช่น ระบบจัดเก็บสำหรับแหล่งพลังงานหมุนเวียน แหล่งจ่ายไฟสำรองหรือใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับยานพาหนะ เช่น เรือบรรทุกสินค้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Na Plus จะมีขนาดใหญ่และมีราคาแพง แต่ก็ยังคงน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้ได้มาถึงผู้บริโภคแล้ว