svasdssvasds

พบสัตว์หลายชนิดมี “สารเคมีชั่วนิรันดร์” สะสมในเนื้อเยื่อและอวัยวะร่างกาย

พบสัตว์หลายชนิดมี “สารเคมีชั่วนิรันดร์” สะสมในเนื้อเยื่อและอวัยวะร่างกาย

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า นาก โลมา โลมาปากอ่าวและนกสายพันธุ์ต่าง ๆ ในอังกฤษ สะสม “สารเคมีชั่วนิรันดร์” (PFAS) ที่เป็นพิษในเนื้อเยื่อและอวัยวะของร่างกายสูงกว่าปริมาณที่ปลอดภัยหลายเท่า

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำของอังกฤษโดยสมาคมอนุรักษ์ทางทะเลและสำนักข่าวเดอะการ์เดียน พบว่ามี นาก โลมา พอร์พอยส์ และนกสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีสารเคมี PFAS หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “สารเคมีชั่วนิรันดร์” หรือ “สารเคมีตลอดกาล”สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อและอวัยวะของร่างกายในระดับที่สูงกว่าปริมาณที่ปลอดภัยหลายเท่าตัว

สำหรับสารเคมีเพอร์ฟลูออโรอัลคิลและโพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และถูกเรียกว่า “สารเคมีชั่วนิรันดร์” เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ไม่ย่อยสลาย มีอยู่ราว 10,000 ชนิด โดยถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคและในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายอย่าง ตลอดจน มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโรคร้ายแรงในมนุษย์และสัตว์ รวมถึง มะเร็ง

พบสัตว์หลายชนิดมี “สารเคมีชั่วนิรันดร์” สะสมในเนื้อเยื่อและอวัยวะร่างกาย

สารเคมีดังกล่าวยังตกค้างในดิน น้ำได้เป็นเวลานานหลายพันปี และเชื่อว่าสะสมอยู่ในเลือดของมนุษย์ทุกคนบนโลก 

มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับสาร PFAS กำหนดว่า ปลาไม่ควรมีสารดังกล่าวมากกว่า 9 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม เพื่อปกป้องสัตว์นักล่าและผู้ที่บริโภคปลาจากการรับสารพิษตกค้างเข้าไปสะสมไว้ในร่างกาย แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าราว 12% ของปลาในกลุ่มตัวอย่าง มีสารพิษเกินเกณฑ์ โดยปลาบางชนิด อย่าง ปลาลิ้นหมาและปลาน้ำจืดมีสาร PFAS สะสมในเนื้อเยื่อสูงถึง 34 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ 41 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ

หากใช้เกณฑ์ขั้นต่ำกับทุกสายพันธุ์ จะพบว่า สัตว์เกือบครึ่งหนึ่งที่ถูกสุ่มตัวอย่างจะมีปริมาณสารพิษในร่างกายเกินเกณฑ์ และในตอนนี้สหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณาที่จะลดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับสาร PFAS ลงมาอยู่ที่ 0.077 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และหากใช้เกณฑ์ใหม่นี้ จะทำให้สัตว์ 92% มีระดับสาร PFAS ที่เกินกำหนด

ข้อมูลในแผนที่มลพิษของลุ่มน้ำ แสดงให้เห็นว่า นอกเหนือจากปลาแล้ว ยังพบว่ามีสัตว์อีกหลายชนิดที่มีระดับสารพิษ PFAS ตกค้างในร่างกายสูงกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์นักล่าที่อยู่สูงกว่าในระดับห่วงโซ่อาหาร อาทิ นาก ที่มีระดับสารพิษ PFAS สูงถึง 9,962 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม โลมาปากอ่าวที่มีสาร PFAS ถึง 2,420 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม หรือแม้แต่แต่แมวน้ำสีเทา 357 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตามมาด้วย โลมาที่ 78 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม รวมถึง ปริมาณสารพิษดังกล่าวในไข่ของนกแกนเน็ต ซึ่งอยู่ที่ 158 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และตับของอีแร้งที่ 104 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

พบสัตว์หลายชนิดมี “สารเคมีชั่วนิรันดร์” สะสมในเนื้อเยื่อและอวัยวะร่างกาย

แหล่งที่มาหลักของมลพิษ PFAS ในเนื้อเยื่อและอวัยวะร่างกายของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั่วอังกฤษ ได้แก่ สนามบิน โครงสร้างพื้นฐานทางการทหารและผู้ผลิตสารเคมี โดยผลการศึกษษจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ในปี 2024 แสดงให้เห็นว่า นากที่อาศัยอยู่รอบโรงงานเคมีแห่งหนึ่งซึ่งในอดีตมีการใช้กรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิก (PFOA) สารเคมีสังเคราะห์ในกลุ่ม PFAS อยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับนากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างออกมา

แหล่งที่มาอื่น ๆ ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสีย สถานีดับเพลิงและศูนย์ฝึกอบรมการดับเพลิง โรงงานผลิตโลหะ โรงงานผลิตเยื่อและกระดาษ สิ่งอำนวยความสะดวกทางอุตสาหกรรมและพลังงาน และสถานที่กำจัดของเสีย รวมถึง สถานที่ฝังกลบเก่าและสถานที่ฝังกลบที่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสถานที่ฝังกลบเก่าที่สร้างขึ้นริมแม่น้ำและชายฝั่ง เป็นแหล่งที่สารอันตรายถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ

สาร PFAS ยังสามารถตกค้างในดินและน้ำจากกากตะกอนน้ำเสียที่ปนเปื้อน ซึ่งแพร่กระจายในพื้นที่เกษตรกรรม โดยรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ว่า อาจมีพื้นที่ที่เผชิญการตกค้างของสาร PFAS มากถึง 10,000 แห่งทั่วประเทศ สร้างความเป็นกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึง ศาสตราจารย์อเล็กซ์ ฟอร์ด จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจัดการหรือแบนสารเคมี PFAS อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่สะสมสารพิษเหล่านี้ผ่านห่วงโซ่อาหารและสะสมในร่างกายสูงกว่าเกณฑ์ที่ปลอดภัย 

ขณะที่โฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและชนบทของอังกฤษ ยืนยันว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมจากความเสี่ยงที่เกิดจากสารเคมี และกำลังทบปวนแผนการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อรักษาธรรมชาติ ซึ่งรวมถึง การแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากสาร PFAS ด้วย