svasdssvasds

คุยกับ นิตยา - ดร.พูนศักดิ์ เมื่อขยะท่วมแพรกษา รัฐบาลจะเริ่มแก้ปัญหากี่โมง

คุยกับ นิตยา - ดร.พูนศักดิ์ เมื่อขยะท่วมแพรกษา รัฐบาลจะเริ่มแก้ปัญหากี่โมง

คุ้ยต้นตอภูเขาขยะแพรกษาใหม่ ใน EP.2 นี้ SPRiNG ชวนอ่านเรื่องราวของ "ความพยายามที่ไม่เป็นผล" เมื่อประตูทางออกของปัญหาขยะถูกปิดตาย พร้อมกับคำถามว่า "ภาครัฐจะเริ่มแก้ปัญหาขยะกี่โมง...?"

“หลังจากที่ได้พูดเรื่องบ่อขยะแพรกษาใหม่ในการอภิปราย 152 เขาก็ออกมาพูดว่าที่จริงแล้ว ประชาชนต้องของคุณเขานะ เขาไม่ใช่คนสร้างขยะ เขาคือคนกำจัดขยะ คนที่สร้างขยะคือประชาชน”

ความเดิมตอนที่แล้ว Spring News ได้นำเสนอย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของ “บ่อขยะแพรกษาใหม่” ปัญหากวนใจของชาวบ้านสมุทรปราการ ที่ในตอนแรกเป็นเพียงปัญหาเล็กจิ๋ว ไม่มีใครสนใจ กระทั่งเวลาผ่านไป ปัญหาขยะก็พอกพูนสะสมจนกลายเป็นขยะกองโตที่ครั้นจะเข้าไปแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เสียแล้ว

คุยกับ นิตยา - ดร.พูนศักดิ์ เมื่อขยะท่วมแพรกษา รัฐบาลจะเริ่มแก้ปัญหากี่โมง

ใน EP.2 นี้ สปริงนิวส์ได้พูดคุยกับ นิตยา มีศรี สส.สมุทรปราการ เขต 5 พรรคก้าวไกล ถึงเบื้องหลังการติดต่อพูดคุยกับบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อวิกฤตขยะในแพรกษาใหม่ การเจราจาสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ และสุดท้ายแสงสว่างที่ชาวแพรกษาใหม่มองหาอยู่นั้นจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้หรือไม่ ติดตามได้ที่บทความนี้

ไล่ไทม์ไลน์: พรรคก้าวไกลกับความพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตขยะแพรกษาใหม่

8 ตุลาคม 2566 พรรคก้าวไกลนำทีมโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เดชรัตน์ สุขกำเนิด, กลุ่มก้าวกรีน รวมถึงนิตยา มีศรี สส.สมุทรปราการ เขต 5 พรรคก้าวไกล รวมกลุ่มลงพื้นที่สำรวจภูเขาแพรกษา จ.สมุทรปราการ

8 ต.ค. 67 Credit พรรคก้าวไกลสมุทรปราการ-move forward party

หลังลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์บ่อขยะแพรกษา ทางพรรคก้าวไกลได้ส่งหนังสือไปยังบริษัท EEP เพื่อขอเข้าพบทีมผู้บริหาร แต่ถูกปฏิเสธกลับมา ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาขยะระยะสั้นไว้ ดังนี้

  • การคลุมพลาสติกบ่อขยะ และดูดก๊าซมีเทนจากบ่อขยะมากำจัดหรือเข้าโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ แทนที่จะปล่อยให้ส่งกลิ่นและกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนั้น ยังเป็นการป้องกันการเกิดไฟไหม้บ่อขยะ ที่เคยเกิดขึ้นกับบ่อขยะแห่งนี้ เมื่อหลายปีก่อนด้วย
  • ทำระบบป้องกันน้ำชะกองขยะไม่ให้ปนเปื้อนลงสู่ลำคลองสาธารณะ รวมถึง กู้/ฟื้นฟูคลองทับนาง ให้กลับมาไหลโดยปกติ
  • ปรับความสูง/ความลาดชันของกองขยะ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการสไลด์หรือเลื่อนไหลของกองขยะอีก

จุดประสงค์ที่ทางพรรคต้องการไปคุยคือเรามี ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จำปี (สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาบ่อขยะ และเป็นประธาน กมธ.ที่ดิน เราแค่อยากพูดคุยกับบริษัทก่อนว่าติดขัดอะไร อยากให้เราช่วยเหลืออะไร แต่ก็ถูกปฏิเสธมา” นิตยา มีศรี กล่าว

เขาบอกว่าถ้าไม่มีผู้นำทางจิตวิญญาณเข้าไปด้วย เขาก็ไม่สะดวกให้เข้าไป ผู้นำทางจิตวิญญาณที่เขาบอกมี 3 คนคือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 3 คนนี้ใครก็ได้ เขาบอกว่าคุณยังเอาเขามาลงพื้นที่ได้เลย ทำไมถึงเอาพวกเขามาคุยกับเขาไม่ได้”   

14 มี.ค. 2567 นิตยา มีศรี ตั้งกระทู้ถามสด อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ถึงกรณีไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาใหม่ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 67 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน และเกิดเป็นมลพิษทางอากาศ น้ำ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก X ของพรรคก้าวไกล ระบุว่า “รมว.มหาดไทย มอบหมาย ‘ทรงศักดิ์ ทองศรี’ รมช.มหาดไทย ตอบแทน ตอนเช้า สส. ก็เห็นอยู่ รมช.มหาดไทย มาสภาฯ แต่พอถึงคราวต้องตอบกระทู้ก้าวไกล รัฐมนตรีกลับติดภารกิจด่วน”

3 เม.ย. 2567  นิตยา มีศรี สส.สมุทรปราการ เขต 5 พรรคก้าวไกล อภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ถึงกรณีบ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ ที่มีการนำขยะมาฝังกลบสูงเท่าภูเขา ปริมาณกว่า 3 ล้านตัน หมักหมม และส่งกลิ่นเหม็น กระทบต่อสุขภาพประชาชน

อีกทั้งยังเกิดไฟไหม้ซ้ำซากทุกปี พร้อมกระทุ้งถึงรัฐบาลว่าต้องเร่งหามาตรการเยียวยาประชาชนในระยะสั้น พร้อมหาวิธีการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาว

3 เม.ย. 2567  นิตยา มีศรี สส.ก้าวไกล อภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ถึงกรณีบ่อขยะแพรกษาใหม่

“ตลอดเวลาที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้ามารับตำแหน่ง แต่กลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขใดใดในการจัดการขยะเลยค่ะ ต้องถามท่านแล้วค่ะว่าท่านจะแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการขยะกี่โมงกันคะ” นิตยา มีศรี สส.ก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายทั่วไป 152 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.67

28 เม.ย. 2567 ก่อนลงพื้นที่ในวันนี้ พรรคก้าวไกลได้ติดต่อไปที่เทศบาลแพรกษาใหม่เพื่อแจ้งว่าจะลงพื้นที่บ่อขยะแพรกษาใหม่ ขอให้เทศบาลแพรกษาใหม่ ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ช่วยนำทีมเข้าไปยังบ่อขยะแพรกษา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ของเอกชน

หน่วยงานที่ลงพื้นที่ในวันที่ 28 เม.ย. 67 ประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกล กมธ.ที่ดิน นำทีมโดย ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จำปา พร้อมด้วยนิตยา มีศรี (สส.สมุทรปราการ) นิตยา มีศรี และกรมควบคุมมลพิษ

นิตยา มีศรี เล่าว่า เมื่อถึงวันนัดหมาย เทศบาลแพรกษาใหม่ได้นำทีมกมธ.ที่ดิน รวมถึงกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่บริเวณบ่อขยะแพรกษาใหม่ แต่ปรากฏว่าบริษัท EEP ไม่อนุญาตให้เข้าตรวจสอบภายในภูเขาขยะ โดยอ้างว่าสามารถให้เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ และเทศบาลแพรกษาใหม่เข้าได้เท่านั้น

พอถึงหน้าบ่อขยะเขาบอกเข้าไม่ได้ คนที่เข้าได้มีแค่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้นก็คือ เทศบาลแพรกษาใหม่ และกรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่ กมธ.เข้าไม่ได้ ทางบริษัทแจ้งว่า สส.และกมธ.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในพื้นที่เขา

เขาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ และเทศบาลแพรกษาใหม่สามารถเดินดูตามจุดต่าง ๆ ของบ่อขยะได้ แต่สุดท้ายจึงมีการหารือกันในนามของกมธ. และได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษเข้าไป เพราะเราไม่ทราบทางบริษัทจะพาไปตรงไหน ถ้าเราไม่ได้เข้าไปด้วยตัวเองเราก็ไม่มั่นใจ

บ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560

ขยะสไลด์ทับถม “คลองทับนาง” ผ่านมาหลายปี ทำไมไม่ได้รับการแก้ไข?

เมื่อขยะบนบก ตกลงในน้ำจะเกิดอะไรขึ้น...กรณีคลองทับนางคือตัวอย่างชั้นดี หากเราเปิด Google Map ดูทำเลที่ตั้งของบ่อขยะแพรกษา จะเห็นว่ามีคลองทับนางล้อมรอบอยู่ในทางทิศเหนือ ใต้ และฝั่งตะวันตก

คุยกับ นิตยา - ดร.พูนศักดิ์ เมื่อขยะท่วมแพรกษา รัฐบาลจะเริ่มแก้ปัญหากี่โมง

และแล้วสิ่งที่หลายคนกังวลก็เกิดขึ้นเมื่อขยะที่กองพะเนินสูงในภูเขาขยะร่วงหล่นลงคลองทับนาง ทับถมจนน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ อีกทั้งยังทำให้น้ำเน่าเสีย ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ใดใดได้อีก

ก่อนอื่นใดขอแนะนำคลองทับนางให้ผู้อ่านได้รู้จักกันก่อน คลองแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 526 ปีก่อน ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ ระบุว่าปัจจุบันคลองทับนางมีความกว้าง 10 เมตร ยาว 5.1 กิโลเมตร ไหลแยกออกมาจากครองสำโรง เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง อ.แพรกษาใหม่ กับ อ.บางพลี

คลองทับนาง ถูกขยะสไลด์ทับถม

ในการอภิปรายทั่วไป 152 เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 นิตยา มีศรี ฉายสไลด์ภาพบ่อขยะในปี 2547 กับปี 2567 เปรียบเทียบกัน อ้างอิงจากภาพดังกล่าวจะเห็นว่า ในปี 2547 คลองทับนางมีลักษณะทอดยาวต่อเนื่อง กลับกันในปี 2567 คลองทับนางบางส่วนถูกทับถมด้วยขยะจากบ่อขยะแพรกษาใหม่

ปัจจุบัน คลองทับนางหายไปแล้วเกือบ 1 กิโลเมตร เพราะว่าขยะมันสไลด์ลงมาถมคลอง” นิตยา กล่าว

ซึ่งหากไปดูข้อมูลจาก “การกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล” กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุไว้ว่าสถานที่ฝังกลบควรอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะ และแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะไม่ต่ำกว่า 100 เมตร

เมื่อคลองทับนางเฟื่องไปด้วยขยะ ผลที่ตามมาคือน้ำเสีย และส่งกลิ่นเหม็นเน่า นิตยาเปิดเผยในอภิปราย 152 ว่าได้มอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างน้ำในคลองทับนางไปวิเคราะห์ในห้องแลบ ผลกรากฎว่าพบเชื้อแบคทีเรียแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) หรือแบคทีเรียกินเนื้อคนชนิดเดียวกับที่ระบาดในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากโรงพยาบาลนนทเวชเปิดเผยว่าเชื้อดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล ซึ่งหากแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่คนทางบาดแผลจะทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่ออ่อนผิวหนัง และก่อให้เกิดโรคในสัตว์ด้วยเช่นกัน

หลังอภิปรายได้ 3 วัน บริษัท EEP ก็แถลงข่าวตอบโต้ว่าสิ่งที่อภิปรายนั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่เรายืนยันว่าข้อมูลที่อภิปรายมันจริงทั้งหมด เชื้อไวรัสกินคนตัวเดียวกับที่ระบาดที่ญี่ปุ่น ก็พบอยู่ในคลองสาธารณะที่อยู่บริเวณโดยรอบบ่อขยะ อันที่จริงพบทั่วสมุทรปราการเลย” นิตยา กล่าวกับสปริงนิวส์

สำหรับกรณีขยะจากบ่อขยะแพรกษาสไลด์ท่วมคลองทับนาง นิตยา มีศรี เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะดันปัญหาคลองทับนางเข้าพิจารณา ตั้งต้นด้วยคำถามว่าเทศบาลแพรกษาใหม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่คืนพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนหรือไม่ เพราะนี่คือหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่นโดยตรง

คุณภาพชีวิตชาวแพรกษาใหม่ ดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับภาครัฐ

สปริงนิวส์ติดต่อไปยัง ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย ดร.พูนศักดิ์ เปิดเผยในนามกมธ. ที่ดิน ว่าที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้าน พร้อมทั้งให้หน่วยงานรัฐเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ เล็งเห็นว่าเป็นปัญหาจริง จึงได้ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการแก้ไข

เราอยากให้เขาตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อพูดคุยกัน เอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาช่วยกันแก้ไข อันนี้คือจุดประสงค์หลักของเรา” ดร.พูนศักดิ์ กล่าว

ดร.พูนศักดิ์ เปิดเผยต่อว่าเบื้องต้นผู้ว่าฯ สมุทรปราการได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามปัญหาขยะแล้ว ทั้งนี้ ดร.พูนศักดิ์ เผยว่าพร้อมผลักดันให้ นิตยา มีศรี สส.ก้าวไกล เขต 5 เป็นตัวแทนของคณะกรรมาธิการเข้าไปร่วมการประชุม แต่ตอนนี้ยังไม่มีการประชุมเกิดขึ้น

ถ้าเขายังไม่เริ่มสักที เราก็คงต้องทำหนังสือสอบถามเขาไปอีกรอบ ถ้ายังไม่ดำเนินการใดใดอีก เราก็คงแจ้ง ปปช. เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ดร.พูนศักดิ์ กล่าว

ดร.พูนศักดิ์ เปิดเผยว่าปัญหาขยะแพรกษาใหม่ หรือทั้งสมุทรปราการ จะทุเลากว่าที่เป็นอยู่ได้ คณะฯ ต้องเริ่มต้นพูดคุย และวางแผนอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น ขยะหล่นลงในคลองทับนาง ต้องประเมินดูว่าจะแก้ไขยังไง ใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องให้โรงงานเป็นคนดำเนินงาน โดยมีหน่วยงานรัฐคอยกำกับ

ฝ่ายนิติบัญญัติก็ดำเนินการได้เท่านี้ จากนี้คือหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องแก้ไข ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของหน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแล ว่าคุณดูแลแก้ไขปัญหานี้แค่ไหน ถ้าเราเป็นฝ่ายบริหารคงสั่งปิดไปเรียบร้อยแล้ว” ดร.พูนศักดิ์ กล่าว

บ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560

ปิดหรือย้ายบ่อขยะ ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม

เนื่องจากบ่อขยะแพรกษาใหม่คือปลายทางของขยะจากทั้งสมุทรปราการ ดังนั้น หากจะวางแผนปิดบ่อขยะ ตามความเหมาะสมแล้วคือต้องมีแผนรองรับอย่างรัดกุม นิตยามีศรีจึงมองว่าการปิดหรือย้ายบ่อขยะอาจไม่เกิดประโยชน์ เพราะหากไร้แผนซัพพอร์ตปัญหาขยะก็จะวนลูปเช่นนี้

“อบจ.สมุทรปราการมีงบมากติดอันดับ Top 3 ของประเทศ นำเงินส่วนนั้นมาลงทุนกับการกำจัดขยะหน่อยได้ไหม เช่นสร้างโรงเผาขยะ หรือไปจับมือกับกทม. ไปดูโมเดลของหนองแขมก็ได้ เราจะได้ไม่ต้องผูกขาดกับบ่อขยะแห่งนี้ พอถ้ามีโรงขยะเกิดขึ้นหลาย ๆ เจ้า มันจะได้เกิดการแข่งขัน ไม่ผูกขาดแค่เจ้าใดเจ้าเดียว” นิตยา มีศรี กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าภาครัฐจะเริ่มดำเนินแก้ไขปัญหาบ่อขยะแพรกษาเมื่อไหร่ และอย่างไร ทุกวินาทีที่ผ่านไปคือช่วงเวลาที่ประชาชนชาวแพรกษาใหม่ต้องทนทุกข์กับกลิ่นเหม็นเน่า ปัญหาในลมหายใจของชาวแพรกษาใหม่ ภาครัฐจะแก้ไขกี่โมงมาดูกัน...

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related